'ส่งออก' ก.พ.พุ่ง 14% ลุ้นทั้งปีโต 3% จับตาสหรัฐขึ้นภาษี 2 เม.ย.นี้

'ส่งออก' ก.พ.พุ่ง 14% ลุ้นทั้งปีโต 3% จับตาสหรัฐขึ้นภาษี 2 เม.ย.นี้

พาณิชย์  เผยการส่งออกเดือนก.พ. มีมูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 คาดไตรมาสแรก ขยายตัวได้ 10%  ลุ้นทั้งปีขยายตัว 3%

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนก.พ.68 มีมูลค่า 26,707 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และขยายตัว ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากม.ค.68 ที่ขยายตัวได้ 13.6% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 24,718 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4% ส่งผลให้เดือนนี้ไทยกลับมาเกินดุลการค้า อยู่ที่ 1,988 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ คาดว่าในเดือนมี.ค.การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่มากขึ้น  และดูจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบนำมาผลิตเพื่อการส่งออก  ส่วนภาพรวมการส่งออก 2 เดือนแรก ขยายตัว 13.8%

นายพิชัย กล่าวว่า เครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทย กำลังไปได้ดีทุกตัว โดยในปีที่แล้วไทยมียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท ขณะนี้หลายโรงงานใกล้เสร็จ และพร้อมเริ่มการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ หรือ PCB

รวมทั้งมีข้อมูลจาก BOI ระบุว่า 2 เดือนแรกของปี 2568 มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว การส่งออก 2 เดือนแรกโต 13.8% การลงทุนขยายตัวสูงกว่าปีก่อน การท่องเที่ยวปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยว 36 ล้านคน ปีนี้คาดว่าแตะ 39-40 ล้านคน ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ปัญหาหนี้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงสนับสนุนแนวคิดการแก้หนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และอาจขยายตัวถึง 5-6%

ทั้งนี้ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 11.8% ดังนี้

เดือนต.ค.2567 ขยายตัว 14.6%

เดือนพ.ย.2567 ขยายตัว 8.2%

เดือนธ.ค.2567 ขยายตัว 8.7%

เดือนม.ค.2568 ขยายตัว 13.6%

เดือนก.พ.2568 ขยายตัว 14%

\'ส่งออก\' ก.พ.พุ่ง 14% ลุ้นทั้งปีโต 3% จับตาสหรัฐขึ้นภาษี 2 เม.ย.นี้

 “การส่งออกเป็นที่น่าพอใจมาก เพราะส่งออกโตได้ 14% หลังจากเดือนม.ค. โตได้ 13.6% หากตัวเลข 5  เดือนย้อนหลัง การส่งออกของไทยขยายตัวเฉลี่ย  11.8% เชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้ โดยการส่งออกไทยกำลังฟื้นตัวจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ไทยเป็นประเทศเล็ก และเปิด จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก ในอดีตตัวเลขไม่ดีเพราะการลงทุนหดตัว แต่ขณะนี้การลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัว และหากเราสามารถแก้ปัญหาหนี้ของประชาชน และภาคธุรกิจได้สำเร็จ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวเกิน 5% และเดินหน้าเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว" นายพิชัย กล่าว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กล่าวว่า การส่งออกเดือนก.พ.ที่ขยายตัวมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.9% โดยสินค้าเกษตรหดตัว 1.6% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 9.9 % 

ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 35.7 น้ำตาลทราย  25.8%  ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 9.3 % ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัว 27.7%  อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว  14.4 %  อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป ขยายตัว 22.5%  

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 34.3%  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 15.8%   ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 3.7% เนื้อสัตว์ และของปรุงแต่งที่ทำจากเนื้อสัตว์ หดตัว 6.7% ทั้งนี้ 2 เดือนแรกส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 2.1%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว  17.2%   โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.5% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 51.3% อัญมณี และเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 106.3%  ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 16.9% เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ ขยายตัว 32.8%  เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ ขยายตัว  21.5 % แผงวงจรไฟฟ้า 24.8 %

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัว 13.2% เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัว 10.1%   อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัว  46.1% ทั้งนี้ 2 เดือนแรกการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว   17.1%

สำหรับการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว  โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต ตลาดเอเชียใต้ยังขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับ ยังอินเดีย ประกอบกับยังมีการเร่งนำเข้าในตลาดสหรัฐจากความกังวลมาตรการกำแพงภาษีในอนาคต โดยตลาดหลัก ขยายตัว 7.7%  ได้แก่ สหรัฐ 18.3% จีน 22.4%  ญี่ปุ่น 3.1% สหภาพยุโรป (27) 4.5% 

แต่หดตัวในตลาดญี่ปุ่น 3.1% ตลาดอาเซียนอาเซียน (5)  0.5% และ CLMV 1.8%   ตลาดรอง ขยายตัว  21.2% ได้แก่ ตลาดเอเชียใต้ 129.5 %  ตะวันออกกลาง 6.7%  แอฟริกา 6.8% ลาตินอเมริกา 17.9%  รัสเซีย และกลุ่ม CIS 30.2% และสหราชอาณาจักร 3.7% แต่หดตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 7.7%  และตลาดอื่นๆ ขยายตัว 184.6%

สำหรับการส่งออกในไตรมาสแรก คาดว่าจะขยายตัวได้ในตัวเลข 2 หลัก ประมาณ 10% โดยได้รับแรงหนุนจากความเชื่อมั่นในภาคการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวในเชิงบวกความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ นโยบายการค้าของสหรัฐ และมาตรการตอบโต้จากประเทศต่างๆ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับระบบการค้าโลก ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

ตลอดจนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์  ขณะที่ไตรมาส 2  สินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ที่จะเริ่มออกมามาก อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาดูผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ซึ่งจะมีความชัดเจนในวันที่ 2 เม.ย.

“กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออกสำหรับปี 2568 ว่าจะขยายตัวได้ 2-3% แต่จากมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) ที่ขยายตัวได้ถึง 13.8% นั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ทั้งปีนี้ การส่งออกของไทย จะขยายตัวได้เกินเป้าหมาย 3% ที่ตั้งไว้ โดยมีมูลค่า 309,545 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเดือนละ 26,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ขยายตัว โดยเฉพาะจีน สหรัฐ อียู เอเชียใต้ อินเดีย” นายพูนพงษ์ กล่าว

นายวุฒิไกร  ลีวีระวุฒิไกร  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการรับนโยบายทรัมป์ นั้น ขณะนี้คณะทำงาน ซึ่งได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งในเรื่องของการปรับขึ้นภาษี การค้าการลงทุน ความมั่นคง โดยได้มีการประสานกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เพื่อขอพบ และพูดคุย ซึ่งอยู่ในระหว่างการตอบรับ

 

 พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์