เศรษฐกิจไม่นิ่ง - ทรัมป์ 2.0 ทำยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 2 เดือนแรกชะลอ

เศรษฐกิจไม่นิ่ง - ทรัมป์ 2.0 ทำยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 2 เดือนแรกชะลอ

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย จัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน ก.พ. 68 จำนวน 7,529 ลด 15.04 % รายรวม 2 เดือนแรก 16,391 ราย ชี้ชะลอตัวลง เหตุรอดูสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก  นโยบายทรัมป์ 2.0

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนกุ.พ. 2568 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 7,529 ราย ลดลง 1,333 ราย คิดเป็น 15.04% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และลดลง 579 ราย คิดเป็น 7.14%      โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 16,334.51 ล้านบาท ลดลง 8,616.08 ล้านบาท คิดเป็น 34.53% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ม.ค.68) และลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ก.พ.67)  4,026.94 ล้านบาท คิดเป็น 19.78%  ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 628 ราย มูลค่า ทุน 1,340 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 473 ราย ทุน 2,117 ล้านบาท 3. ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 339 ราย ทุน 610 ล้านบาท

ขณะที่จำนวนการจดทะเบียนเลิก ในเดือนก.พ.มีจำนวน 787 ราย ลดลง 644 ราย        คิดเป็น 45.00% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 81 ราย คิดเป็น 11.47% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (ก.พ.67) โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 2,416.90 ล้านบาท ลดลง 2,184.67 ล้านบาท    คิดเป็น 47.48% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ม.ค.68) และลดลง 729.50 ล้านบาท คิดเป็น 23.19%      เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

เศรษฐกิจไม่นิ่ง - ทรัมป์ 2.0 ทำยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 2 เดือนแรกชะลอ

นางอรมน กล่าวว่า ส่วนภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 2 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวนทั้งสิ้น 16,391 ราย ลดลง 5.09% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.67)  โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 41,285 ล้านบาท ลดลง 4,509 ล้านบาท

“ภาพรวมจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 2 เดือน ชะลอตัว เป็นผลมาจากภาคธุรกิจในช่วงเวลานี้ ต้องเผชิญกับสถานการณ์และแรงกระทบต่างๆ จากภายในและภายนอกประเทศ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าและภาษีของทรัมป์ 2.0 และประเทศมหาอำนาจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผนวกกับปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ล้วนส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ ”นางอรมน กล่าว

ส่วนการจดทะเบียนเลิกสะสม 2 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) มีจำนวน 2,218 ราย เพิ่มขึ้น 320 ราย คิดเป็น 16.86%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 โดย ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 7,017 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 656 ล้านบาท คิดเป็น 10.31% อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขการจดทะเบียนนิติบุคคลในเดือนก.พ. 2568 และช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาดูจะชะลอตัวเพื่อรอดูสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะเห็นว่าอัตรา   การจัดตั้งธุรกิจต่อการจดเลิกในปี 2568 อยู่ที่ 7:1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีกว่า 5 ปีย้อนหลัง (2563-2567) ที่มีสัดส่วน 4:1 หรือตั้ง 4 ราย เลิก 1 ราย

ทั้งนี้แนวโน้มการส่งออกและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนคาดว่าจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและของโลกที่มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนหลักทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการ Easy E-Receipt การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 2568 เติบโตได้ตามเป้าหมายที่กรมตั้งไว้  คือ 90,000 - 95,000 ราย

นางอรมน กล่าวว่า  สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติ 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 181 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 41 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 140 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 35,277 ล้านบาท โดยการอนุญาต มีจำนวนเพิ่มขึ้นจำนวน 73 ราย คิดเป็น68% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ก่อน และมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 8,738 ล้านบาท คิดเป็น 33%

ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่  1. ญี่ปุ่น 38 ราย คิดเป็น 21% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 13,676 ล้านบาท  2. จีน 23 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 5,113 ล้านบาท     3. สิงคโปร์ 23 ราย คิดเป็น 13% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 4,490 ล้านบาท 4. สหรัฐอเมริกา 19 ราย คิดเป็น 11% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,372  ล้านบาท และ  5. ฮ่องกง 16 ราย คิดเป็น 9% ของธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,587 ล้านบาท

การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ  2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 2568) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 57 ราย คิดเป็น 31% ของนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 จำนวน 22 ราย คิดเป็น 63% มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 17,546 ล้านบาท    คิดเป็น 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น 19 ราย ลงทุน 8,096 ล้านบาท จีน 14 ราย  ลงทุน 2,751 ล้านบาท สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 2,191 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 16 ราย ลงทุน 4,508 ล้านบาท