จับตาเหล็ก ‘เวียดนาม’ ทะลักไทย สอท. ชี้จุดอ่อนตอบโต้ทุ่มตลาดช้า

จับตาเหล็ก ‘เวียดนาม’ ทะลักไทย สอท. ชี้จุดอ่อนตอบโต้ทุ่มตลาดช้า

สงครามเหล็กโลกเดือด หลังทรัมป์ขึ้นภาษีสกัด "จีน" เพิ่มแรงกดดันเหล็กเวียดนามทะลักไทย ส.อ.ท. กระทุ้งรัฐเตรียมรับมือผลกระทบเทรดวอร์ ชี้จุดอ่อนไทยตอบโต้ทุ่มตลาดช้า

KEY

POINTS

  • ทั่วโลกกำลังร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อหลายประเทศประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ใช้มาตรการภาษีนำเข้าครั้งใหญ่
  • นโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐมุ่งเป้าที่ “จีน” โดยอ้างว่าเหล็กจากจีนกำลังไหลทะลักเข้าประเทศอื่นๆ ก่อนจะถูกส่งต่อมายังสหรัฐ โดยเฉพาะบราซิล เม็กซิโก และอาร์เจนตินาเป็นตัวการในการนำเข้าเหล็กจากจีนแล้วส่งออกต่อมายังสหรัฐ
  • ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้เหล็กในจีนลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติอสังหาฯ ซึ่งกำลังผลิตเหล็กของจีนยังสูงเกิน 1 พันล้านตันต่อปี อย่างต่อเนื่อง จนต้องระบายเหล็กส่วนเกินออกสู่ตลาดโลก
  • กำลังผลิตเหล็กโลกอยู่ที่ 1,800 ล้านตันต่อปี กำลังผลิตจีนที่ 1,100 ล้านตันต่อปี ใช้ในประเทศ 900 ล้านตันต่อปี ที่เหลือส่งออก 200 ล้านตันต่อปี โดยปี 67 จีนส่งออก 110 ล้านตัน มีตลาดอาเซียนรวมถึงไทยจึงเป็นเป้าหมายหลัก

 

 

 

สถานการณ์อุตสาหกรรม “เหล็ก” ทั่วโลกกำลังร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อหลายประเทศประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ ซึ่งสถานการณ์นี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศที่กำลังซบเซา
บลูมเบิร์ก รายงานว่า นโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ มุ่งเป้าไปที่ “จีน”

โดยทรัมป์อ้างว่าเหล็กจากจีนกำลังไหลทะลักเข้าประเทศอื่นๆ ก่อนจะถูกส่งต่อมายังสหรัฐ โดยเฉพาะบราซิล เม็กซิโก และอาร์เจนตินาเป็นตัวการในการนำเข้าเหล็กจากจีน แล้วส่งออกต่อมายังสหรัฐ พร้อมตำหนิประเทศอื่นๆ ว่า จัดการปัญหาการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเหล็กจีนได้ไม่ดีพอ

อุตสาหกรรมเหล็กโลกเผชิญภาวะตึงเครียดในปีที่ผ่านมา หลังจากที่ “จีน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกได้ส่งออกเหล็กในปริมาณมหาศาลจนเกิดปัญหาเหล็กล้นตลาดโลก ทำราคาเหล็กตกต่ำ และทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศอื่นๆ ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเหล็กจากจีนได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้เหล็กในจีนจะลดลงจากการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ปริมาณการผลิตเหล็กของจีนยังคงสูงเกิน 1 พันล้านตันต่อปีอย่างต่อเนื่องจนต้องระบายเหล็กส่วนเกินออกสู่ตลาดโลก

ทั่วโลกออกมาตรการสกัด ‘เหล็กจีน’

ภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียม 25% ของประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา เวียดนามและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ซื้อเหล็กรายใหญ่ 2 รายของจีน และเป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ได้ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก และออกมาตรการจำกัดโควตาการนำเข้า เพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศจากสินค้าราคาถูกที่หลั่งไหลเข้ามา

ส่วนไต้หวันได้เปิดการสอบสวนการทุ่มตลาด และหน่วยงานการค้าของอินเดีย ได้แนะนำให้กำหนดภาษีนำเข้าเหล็ก

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็กำลังพิจารณาปรับปรุงระเบียบป้องกัน ด้วยการจำกัดปริมาณการนำเข้า และการเพิ่มภาษีหากนำเข้าเกินโควตา ส่วนในลาตินอเมริกา ผู้ผลิตเหล็กกำลังกดดันรัฐบาลของตนให้ใช้มาตรการปกป้องเพิ่มเติม เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า การจำกัดโควตา และการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากผู้ผลิตต่างประเทศ

กำแพงภาษีในอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกที่กำลังเกิดขึ้นครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไปจนถึงงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจนำไปสู่การย้ายฐานการผลิต และการสูญเสียตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเหล็กซึ่งกำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว

สงครามภาษีดันเหล็ก ‘เวียดนาม’ ทะลักไทย

นายโทมัส กูเตียเรส ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเหล็กจากบริษัทคัลลานิช คอมโมดิตีส์ กล่าวว่า หากสหรัฐกีดกันการนำเข้าเหล็ก และเมื่อเหล็กเข้าสหรัฐไม่ได้ ผู้ผลิตจะไปขายในตลาดประเทศอื่นทันที นอกจากนี้ผู้ผลิตเหล็กมีความกังวลว่าเหล็กส่วนเกินจากจีน และประเทศอื่นๆ จะถูกส่งเข้ามาในตลาดที่กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

นางสาวเพ็ชรรุ้ง เมษินทรีย์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะ และแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า ผู้ผลิตเหล็กไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่หนักหนาสาหัสกว่าเดิมมาก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากจากเหล็กจีนที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศแล้วก็ตาม

“อีกเรื่องที่น่ากังวลคือ ถ้าประเทศอื่นๆ เก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากประเทศอื่นสูงขึ้น นอกเหนือจากจีน ประเทศเหล่านั้นอาจจะส่งเหล็กมาขายในไทยแทน ซึ่งตอนนี้เราเริ่มเห็นเหล็กจากเวียดนามเข้ามาขายในไทยมากขึ้นแล้ว” นางสาวเพ็ชรรุ้ง กล่าว
ชี้จุดอ่อนไทยตอบโต้ทุ่มตลาดล่าช้า
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาไทยนำเข้าเหล็กจากเวียดนามในกลุ่มเหล็กเคลือบ เหล็กท่อ เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป รวมถึงมีการนำเข้าเหล็กแท่งสำหรับการเป็นวัตถุดิบการรีดร้อน และรีดเย็น ซึ่งเวียดนามมีโรงถลุงเหล็กที่ผลิตเหล็กต้นน้ำถึง 4 แห่ง บางส่วนเป็นการลงทุนจากจีน ในขณะที่ไทยไม่มีโรงถลุงเหล็ก

ทั้งนี้ เวียดนามมีการส่งออกสินค้าเหล็กไปจีนในปริมาณสูงจึงมีแผนที่จะส่งออกเหล็กไปประเทศอื่น เพื่อลดผลกระทบจากการที่เวียดนามเกินดุลการค้าสหรัฐมูลค่าสูง

สำหรับสาเหตุสำคัญที่เวียดนามมองตลาดเหล็กไทย เพราะเป็นประเทศที่มีดีมานด์สูงในอาเซียน รวมถึงการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดไม่มากหรือใช้เวลานานในการไต่สวนเพื่อประกาศจัดเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) 

ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณามาตรการรับมือกรณีนี้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ผลิตเหล็กเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการตอบโต้สินค้าทุ่มตลาดให้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาจะต้องมีการเปิดไต่สวน และเอกชนไทยต้องพิสูจน์ความเสียหาย จึงทำให้บางกรณีใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะออกมาตรการตอบโต้ได้ 

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าถ้ามีแนวโน้มที่จะมีสินค้าใดเข้ามาทุ่มตลาดควรมีกลไกที่ออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดได้ทันทีเหมือนต่างประเทศ

นอกจากนี้ สถาบันเหล็ก และเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย รายงานกำลังการผลิตเหล็กโลกอยู่ที่ 1,800 ล้านตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตจีนอยู่ที่ 1,100 ล้านตันต่อปี โดยใช้ในประเทศ 900 ล้านตันต่อปี ที่เหลือส่งออก 200 ล้านตันต่อปี โดยปี 2567 จีนส่งออกถึง 110 ล้านตัน มีตลาดอาเซียนรวมถึงไทยจึงเป็นเป้าหมายหลัก

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์