ทรัมป์ ‘กลับลำ’ ลดภาษีเหล็ก - อะลูมิเนียมเหลือ 25% หลังแคนาดาถอยเก็บภาษีไฟฟ้า

ปธน.ทรัมป์ตัดสินใจ ‘กลับลำ’ การขึ้นภาษีเหล็ก และอะลูมิเนียมจากแคนาดา 50% ลงเหลือ 25% เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศครั้งแรก จากการที่แคนาดาระงับแผนเก็บค่าธรรมเนียมไฟฟ้า 25% ที่ส่งไปสหรัฐ
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “กลับลำ” ที่จะเพิ่มภาษีศุลกากรเหล็ก และอะลูมิเนียมจากแคนาดา เป็น 50% เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประกาศขึ้นภาษี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงฉับพลันที่กระทบต่อตลาดการเงินอย่างรวดเร็ว การปรับจุดยืนครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเจ้าหน้าที่แคนาดาเองก็ “ถอย” จากแผนเก็บค่าธรรมเนียมไฟฟ้าที่ส่งไปยังสหรัฐอีก 25%
ก่อนหน้านั้น ดั๊ก ฟอร์ด ผู้ว่าการรัฐออนแทรีโอของแคนาดาประกาศว่า เขาจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม 25% สำหรับไฟฟ้าที่รัฐออนแทรีโอ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของแคนาดา ส่งไปยังบ้านเรือนในสหรัฐกว่า 1 ล้านหลัง เว้นแต่ทรัมป์จะยกเลิกการขู่ขึ้นภาษีสินค้าส่งออกจากแคนาดาทั้งหมด
หลังจากนั้น ทรัมป์ ก็ตอบโต้กลับด้วยการจะขึ้นภาษีแคนาดา 50% ฟอร์ดจึงตัดสินใจระงับมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไฟฟ้าเพิ่มเติม และเตรียมเข้าพบ ฮาวเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อเจรจา
ผลของการเจรจาคือ ทำเนียบขาวยอมลดอัตราภาษีจาก 50% ลงเหลือ 25% สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็ก และอะลูมิเนียมจากแคนาดา รวมถึงจากทุกประเทศอื่นๆ ตามแผนเดิม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันพุธ โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือข้อยกเว้นพิเศษใดๆ
“ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ใช้อำนาจต่อรองของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างชัยชนะให้กับชาวอเมริกันอีกครั้ง” คุช เดไซ โฆษกทำเนียบขาว กล่าวในแถลงการณ์
“ตามคำสั่งบริหารก่อนหน้านี้ของเขา อัตราภาษี 25% สำหรับเหล็ก และอะลูมิเนียม โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือการยกเว้นพิเศษใดๆ จะมีผลบังคับใช้กับแคนาดา และประเทศคู่ค้าทั้งหมดของเราตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนของวันที่ 12 มีนาคม”
'อียู' ขึ้นภาษีกลับ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์
สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจะดำเนินมาตรการตอบโต้กลับสหรัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 2.8 หมื่นล้านยูโร เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นไป เพื่อตอบโต้การที่สหรัฐจัดเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมโดยรวม
คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า จะยุติมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐที่ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน ให้สิ้นสุดลงในวันที่ 1 เม.ย. และอียูจะเริ่มบังคับใช้มาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐอย่างเต็มรูปแบบภายในวันที่ 13 เม.ย.
"สหภาพยุโรปต้องดำเนินการเพื่อปกป้องผู้บริโภคและธุรกิจของตนเอง" เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโป กล่าว
"มาตรการตอบโต้ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเข้มแข็งแต่ก็สมส่วน ในขณะที่สหรัฐจัดเก็บภาษีมูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ เราจึงตอบโต้ด้วยมาตรการตอบโต้มูลค่า 26,000 ล้านยูโร" ฟอน เดอร์ เลเยน กล่าวกับผู้สื่อข่าว
อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารสหภาพยุโรปกล่าวว่า :ยังคงเปิดรับการเจรจา และถือว่าการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น"
สำหรับสินค้านำเข้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนั้น มีผลกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่เรือ เหล้าเบอร์เบิน ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์ และสหภาพยุโรปกล่าวว่าจะเริ่มปรึกษาหารือเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อเลือกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยมีกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่เสนอ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เช่น เหล็กและอลูมิเนียม สิ่งทอ เครื่องใช้ในบ้าน พลาสติก สัตว์ปีก เนื้อวัว ไข่ ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและผัก
ตลาดหุ้นสะเทือนหนัก
ที่ผ่านมา ความตึงเครียดระหว่าง สหรัฐ และแคนาดา ยิ่งเพิ่มความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีศุลกากรของทรัมป์อยู่แล้ว หลังจากตลาดหุ้นร่วงหนักจากโพสต์แรกของทรัมป์บน Truth Social ราคาหุ้น ก็ดีดตัวกลับขึ้นมาเมื่อฟอร์ดประกาศระงับมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม และยูเครนตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 30 วัน
ดัชนี S&P 500 ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดที่ 5,528.41 จุด ซึ่งถือเป็นการลดลงถึง 10% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6,144.15 จุดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปเรียกว่าภาวะ “ตลาดปรับฐาน”
ตลาดหุ้นสหรัฐ ร่วงหนักนับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดประมาณ 1 เดือนหลังจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม โดยมูลค่าตลาดของหุ้นสหรัฐหายไปเกือบ 5 ล้านล้านดอลลาร์ จากดัชนีสำคัญต่างๆ
ทรัมป์ ยังวิจารณ์แคนาดาเกี่ยวกับมาตรการปกป้องการค้าสำหรับผลิตภัณฑ์นม และสินค้าเกษตรอื่นๆ พร้อมขู่ที่จะ “ขึ้นภาษีอย่างมหาศาล” สำหรับรถยนต์ที่นำเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน หากแคนาดาไม่ยกเลิกภาษีที่ไม่เป็นธรรม และมีมานานแล้วเช่นกัน
ทรัมป์ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากท่าทีของออนแทรีโอยังกล่าวว่า ภาษีศุลกากรอาจถูกปรับขึ้นอีก เพื่อกดดันให้ประเทศต่างๆ ย้ายฐานการผลิตเข้าสู่สหรัฐ
“ยิ่งภาษีสูงขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่พวกเขาจะสร้าง ... ชัยชนะที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่ภาษีศุลกากร แต่คือ เงินจำนวนมาก ชัยชนะที่ใหญ่ที่สุดคือ พวกเขาย้ายเข้ามาผลิตในประเทศของเรา และสร้างงาน” ทรัมป์ กล่าว พร้อมยืนยันว่าภาษีเหล่านี้จะ “สร้างรายได้มหาศาลให้กับสหรัฐ”
อ้างอิง: nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์