‘สภาพัฒน์’ หนุน ‘กนง.’ คงดอกเบี้ย เก็บกระสุนนโยบายการเงินรับนโยบายทรัมป์

นโยบายทรัมป์ 2.0 ทำเงินเฟ้อสหรัฐสูง ‘สภาพัฒน์’ หนุน ‘กนง.’ คงดอกเบี้ย เก็บกระสุนนโยบายการเงินรับนโยบาย ความผันผวน หวั่นเร่งลดดอกเบี้ยสวนทาง ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย - สหรัฐ ทำค่าเงินบาทอ่อน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เข้ามาช่วยภาคเศรษฐกิจโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงว่าในขณะนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในภาวะที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่รัฐบาลมีการเร่งรัดมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ และเร่งรัดการลงทุนอยู่ความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินจึงยังไม่มากนัก
ทั้งนี้ในการพิจารณาของ กนง.เชื่อว่าดูข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายส่วน รวมทั้งพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ และนโยบายของสหรัฐภายหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วย ซึ่งในขณะนี้ทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐนั้นมีการปรับขึ้นจากนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า และผลักดันแรงงานอพยพออกนอกประเทศ
จึงมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้แทนที่จะลด แล้วหากของไทยเรามีการลดดอกเบี้ยลงก่อน สวนทางกับที่สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจส่งผลต่อค่าเงินบาทที่จะอ่อนค่าลงได้เนื่องจากผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน
โดยหากค่าเงินบาทอ่อนลงมากๆ แม้จะมีผลดีกับการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ปัจจัยเรื่องของการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานจะกระทบต่อไทยอย่างมาก
“กนง.มีการพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน เชื่อว่าการที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อนเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าด้วย” นายดนุชา กล่าว
สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 รัฐบาลมีวงเงินที่เตรียมไว้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนในครึ่งหลังของปีงบประมาณได้เสนอให้รัฐบาลทำโครงการลงทุนในแหล่งน้ำขนาดเล็ก กระจายการลงทุนไปทั่วประเทศ
ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในการทำระบบรองรับน้ำท่วมน้ำแล้งแล้วยังทำให้มีดีมานต์การใช้รถกระบะมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะที่ผู้รับเหมาจะมีการซื้อรถมากขึ้นช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการฟื้นตัวได้ด้วย
ส่วนโครงการที่เสนอนี้จะใช้งบประมาณจากส่วนใดนั้นอาจจะต้องใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉิน และกรณีจำเป็นเร่งด่วน แต่ในส่วนนี้ต้องหารือกับสำนักงบประมาณ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องถึงความเป็นไปได้ของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ว่าหากจะเดินหน้าโครงการในลักษณะนี้จะสามารถใช้งบประมาณจากแหล่งใดได้บ้าง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์