ปลดล็อก 2 อุปสรรค 'ไฮสปีดไทยจีน' ดันเป้าเปิด 'กรุงเทพ - โคราช' ปี 71

ปลดล็อก 2 อุปสรรค 'ไฮสปีดไทยจีน' ดันเป้าเปิด 'กรุงเทพ - โคราช' ปี 71

“คมนาคม” ตั้งเป้าปลดล็อก 2 อุปสรรคงานก่อสร้าง “ไฮสปีดไทยจีน” ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา หลังตั้งเป้าเปิดบริการภายในปี 2571 ยอมรับหนึ่งในปัญหาโครงสร้างทับซ้อน “ไฮสปีดสามสนามบิน” ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ต้องลุ้น “ซีพี” แก้สัญญาเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง

KEY

POINTS

  • "คมนาคม" ตั้งเป้าปลดล็อก 2 อุปสรรคงานก่อสร้าง "ไฮสปีดไทยจีน" ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา หลังตั้งเป้าเปิดบริการภายในปี 2571 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง 2 สัญญา ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ปม "สถานีอุยธยา" หวั่นกระทบมรดกโลก
  • ยอมรับหนึ่งในปัญหาโครงสร้างทับซ้อน "ไฮสปีดสามสนามบิน" ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ต้องลุ้น "ซีพี" แก้สัญญาเพื่อเดินหน้าก่อสร้าง คาดจะสามารถเสนอ ครม.พิจารณาแก้สัญญาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ 

ภายในปี 2571 รัฐบาลตั้งเป้าเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” สายแรกของประเทศไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย - จีน พัฒนาไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ - หนองคาย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท

โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบฯ 2560 - 2563) ซึ่งปัจจุบันโครงการระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด มีความคืบหน้าโดยรวม 35.74% แต่ยังคงมั่นใจว่าจะสามารถเร่งรัดให้เปิดบริการตามแผนกำหนด

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 341,351.42 ล้านบาท ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 ได้เห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้าง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเริ่มจัดทำเอกสารประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมาทันที คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย.2568 เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง และเร่งรัดให้โครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดบริการในปี 2574

อย่างไรก็ดี ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าวกลับพบว่ายังมี 2 อุปสรรคที่จะส่งผลต่อเป้าหมายการเปิดให้บริการมาเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เนื่องจากขณะนี้โครงการไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ยังมี 2 สัญญาที่ไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ จากทั้งหมด 14 สัญญา โดยอุปสรรคเหล่านี้ยังเป็นผลกระทบจากหน่วยงานภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ประกอบด้วย

สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กิโลเมตร วงเงิน 9,207 ล้านบาท เนื่องด้วยงานก่อสร้างส่วนนี้จะมีพื้นที่โครงสร้างร่วมกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งเอกชนคู่สัญญาโครงการดังกล่าว คือ กลุ่มซีพี จะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมให้ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังคงรอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ จึงทำให้โครงสร้างงานส่วนนี้ยังไม่สามารถก่อสร้างได้

สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงิน 9,913 ล้านบาท งานก่อสร้างสัญญานี้ ปัจจุบันยังติดปัญหาความเห็นผลกระทบแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ที่เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา โดยล่าสุดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ลงพื้นที่สำรวจผลกระทบแล้ว จึงทำให้ต้องรอผลการพิจารณาจากยูเนสโก

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ยังมั่นใจว่าไฮสปีดเทรนไทย - จีน จะเริ่มเปิดบริการได้ตามเป้าหมายในปี 2571 แม้ว่าปัจจุบันงานก่อสร้างระยะที่ 1 ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้จำนวน 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว แต่เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและเริ่มงานก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้

“ตอนนี้กระทรวงฯ ยังมั่นใจว่าไฮสปีดไทยจีน ระยะที่ 1 จะเปิดบริการในปี 2571 ตามแผน ส่วนสัญญางานก่อสร้างที่ยังติดปัญหาอยู่นั้น ทราบว่าส่วนของสัญญาที่ 4-1 ทางซีพี ซึ่งเป็นเอกชนร่วมทุนไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ยังคงยืนยันที่จะก่อสร้างงานโยธาพื้นที่ทับซ้อนนี้ และคาดว่าจะมีการเสนอแก้สัญญาร่วมทุนเข้า ครม.พิจารณาในเดือน เม.ย.นี้ ส่วนสัญญาที่ 4-5 ปัจจุบันยังรอการพิจารณาจากยูเนสโก”