‘สงครามการค้า’ รอบใหม่ กับความหวัง 'ทีมไทยแลนด์' เจรจาการค้า

สงครามการค้าโลกรอบใหม่เริ่มขึ้น หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน, แคนาดา, และเม็กซิโก ขณะที่ไทยเสี่ยงรับผลกระทบ 3 ระลอก ทั้งภาษีเพิ่ม, การแข่งขันตลาดในประเทศ, และกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผลประโยชน์
KEY
POINTS
- สงครามการค้าโลกรอบใหม่เริ่มขึ้น หลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน, แคนาดา, และเม็กซิโก
- ขณะที่ไทยเสี่ยงรับผลกระทบ 3 ระลอก ทั้งภาษีส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่ม, การแข่งขันตลาดในประเทศ, และกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ
- ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อปกป้องผลประโยชน์
- การเจรจาต้องทำในรูปแบบทีมไทยแลนด์ ที่มีองค์ประกอบทั้งรัฐ เอกชน นักวิชาการ ที่มีความรู้สามารถเจรจากับสหรัฐฯได้
คำสั่งของประธานาธิบดี หรือที่เรียกว่าคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามขึ้นภาษีนำเข้า 3 ประเทศ จีน 10% แคนาดา และเม็กซิโก ประเทศละ 25% ถือว่าเป็นการเปิดฉากสงครามการค้ารอบใหม่ แม้ว่าภายใน 24 ชั่วโมงถัดมาการขึ้นภาษีแคนาดา และเม็กซิโกจะถูกเลื่อนออกไป 1 เดือน หลังทรัมป์กับผู้นำแคนาดา และเม็กซิโกหารือกันโดยผลการเจรจาเป็นไปในทิศทางที่สหรัฐฯพอใจ
ส่วนจีนเลือกที่จะตอบโต้โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯบางรายการ 10-15% ฟ้องร้องสหรัฐฯต่อองค์กรการค้าโลก (WTO) และเปิดการสอบสวนบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯบางบริษัทในข้อหาผูกขาด
ภาพดังกล่าวถือว่าเป็นการตอกย้ำสิ่งที่ทรัมป์หาเสียงว่าที่พูดไว้นั้นทำจริง แม้ว่าแนวโน้มการใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือในการต่อรอง สิ่งที่มีการวิเคราะห์ว่าจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือในไม่ช้าทรัมป์จะใช้มาตรการทางภาษีในการจัดการเพื่อต่อรองกับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงไว้ซึ่งทรัมป์เคยประกาศกร้าวว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนที่อัตราสูงถึง 60% และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยที่อัตรา 10-20%
ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกจากไทยจะโดนผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ถึง 3 ระลอก ส่วนแรกคือสินค้าที่ส่งไปขายสหรัฐฯจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น ต่อมาคือสินค้าที่ไม่สามารถส่งไปขายสหรัฐฯได้บางส่วนจะไหลบ่าเข้ามาตีตลาดในไทย ผลกระทบที่ตามมาก็คือกระทบต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยข้อมูลของคณะกรรมการเอกชนร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่าสงครามการค้าระลอกใหม่จะกระทบ 23 อุตสาหกรรมไทย และหากไม่มีมาตรการรับมือที่ดีจะกระทบเพิ่มเป็น 30 อุตสาหกรรม
ผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลกระทบมายังการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเห็นได้จากการทยอยปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีที่หลายสำนักเริ่มทยอยหั่นจีดีพีปี 2568 ตั้งแต่ต้นปี ส่วนกระทรวงการคลังแม้จะมีมุมมองที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้โดยมองว่าจีดีพีมีลุ้นจะขยายตัวได้ที่ 3 – 3.5% แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์
ทางเลือกซึ่งเป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจเผชิญความไม่แน่นอนจากนโยบายทรัมป์ 2.0 คือการเตรียมความพร้อมไว้ให้มากที่สุด โดยในเรื่องการเจรจาที่รัฐบาลจะคุยกับสหรัฐฯนั้นจะต้องมีความพร้อมทั้ง “คน” และ “ข้อมูล” ความพร้อมเรื่องคน คือรู้ว่าต้องเจรจากับใคร จะหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา ( USTR ) หรือจะใช้วิธีตั้ง “ผู้แทนพิเศษ” ไปคุยกับกรรมาธิการด้านต่างๆของสหรัฐฯ ก็ได้
ส่วนในเรื่องข้อมูลนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องอ่านให้ขาดว่าในการเจรจากับสหรัฐฯนั้นเราจะเอาอะไรไปวางบนโต๊ะเจรจา ที่จะสามารถยื่นหมู ยื่นแมวได้ โดยที่ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน
การเตรียมความพร้อมทั้ง “คน” และ “ข้อมูล” ต้องทำในนาม “ทีมไทยแลนด์” ที่ไม่ได้มีแค่ตัวแทนจากภาครัฐ แต่ต้องมีองค์ประกอบของทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในสหรัฐฯ มีนักวิชาการ และนักการทูตที่มีประสบการณ์และทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือให้ประเทศไทยและคนไทยได้ประโยชน์มากที่สุด เสียเปรียบน้อยที่สุด
หากเตรียมความพร้อมไว้ให้พร้อมแบบนี้เท่ากับรู้เขา รู้เรา รบ 100 ครั้งชนะ 100 ครั้ง