ส.อ.ท.จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ

ส.อ.ท.จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ

“ส.อ.ท.“ จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 แนะรัฐ-เอกชน ร่วมตั้ง War Room จับตาการเปลี่ยนแปลง ชี้ช่วงวิกฤติเป็นโอกาสเร่งการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม Geopolitics 2025 หัวข้อ “Trump 2.0: The Global Shake Up” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 ม.ค.2568 ว่า การกลับมาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่ 2 หรือ ทรัมป์ 2.0 มีหลายนโยบายที่จะต้องจับตามอง ว่าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างไร ได้แก่ 

1.นโยบาย Reshoring ซึ่งเป็นดึงการลงทุนกลับเข้าสหรัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยจะมีการใช้กลไกภาษีในการจูงใจนักลงทุน ด้วยการลดอัตราภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% เหลือ 15% 

ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับภาคการผลิตทั้งหมด โดยการส่งเสริมและขยายการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ตามคำกล่าวในสุนทรพจน์ของทรัมป์ว่า “Drill, Baby Drill” รวมทั้งการขุดเจาะ Shale Gas และ Shale Oil ที่เคยถูกยุติการผลิตไปในช่วงของประธานาธิบดีไบเดน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) เพื่อเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกลับเข้าไปในสหรัฐมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบกับหลายอุตสาหกรรมของไทย จากเดิมที่ต้องพึ่งพาการส่งออก จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์เป็นการออกไปลงทุนในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน นโยบาย Reshoring อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการลงทุน FDI  จากสหรัฐที่จะเข้ามาในไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยการให้เสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าให้กับนักลงทุนหากตัดสินใจกลับมาลงทุนในประเทศ

2.การขึ้นภาษีนำเข้า (Tariff) 10-20% ขณะที่ตั้งกำแพงสินค้าจากจีน 60-100% ส่วนกลุ่มประเทศ Near Shoring หรือกลุ่มที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งอยู่ใกล้กับสหรัฐ เช่น แคนาดา เม็กซิโก จะถูกจับตามองและถูกตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น 

โดยประเทศไทยเองมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าของการขึ้นภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐกว่า 17% ของการส่งออกทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ไทยโดนตั้งข้อสงสัยเรื่องการบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) และทำให้ค่าเงินบาทถูกบังคับให้แข็งค่า เพื่อเป็นข้อต่อรองในการเจรจาแบบทวิภาคี

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ประเทศจีนที่เป็นเป้าหมายการตั้งกำแพงภาษี ทำให้สินค้าที่ผลิตในจีนทั้งมีมาตรฐานและไม่มีมาตรฐานทะลักท่วมเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน และกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน มูลค่าการส่งออกกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ 

ซึ่งไทยถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในอาเซียน และส่งผลกระทบต่อ 25 กลุ่มอุตสาหกรรมในไทย และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้ เนื่องจากสินค้าไทยแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่าไม่ได้

ดังนั้น มาตรการป้องกัน (Protectionism) แบบอ่อนๆ จึงมีความจำเป็น โดย ส.อ.ท.เสนอให้รัฐเพิ่มแต้มต่อการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้า Made in Thailand จาก 5% เป็น 15% เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เพื่อลดพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐ และหาตลาดใหม่นอกจากอาเซียนด้วย โดยการเร่งเจรจา FTA กับหลายประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะด้านการค้า เนื่องจากกฎหมายที่ล้าสมัยจะเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงในการดึงดูดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ

ขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะแรงงานมีความสำคัญ โดยอยากให้ภาครัฐร่วมบริหารจัดการการสร้างคนให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมใหม่ และเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิต

“ส.อ.ท. ขอให้ภาครัฐตั้ง War Room ร่วมกับเอกชน ในการรับมือกับเรื่องนี้ (นโยบายทรัมป์ 2.0) และวางแผนอย่างเป็นระบบต่อไป เพื่อจับตาดูสถานการณ์ที่ผกผันและเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด“ นายเกรียงไกร กล่าว

ส.อ.ท.จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 แนะไทยเร่งหาตลาดใหม่ ลดพึ่งพาสหรัฐ

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานของ ส.อ.ท. ที่ผ่านมาชัดเจนว่าต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างสมดุล ไม่ให้ล้มหายตายจากเร็วเกินไปและต้องทำให้เกิด Soft Landing โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) เกิดการปรับตัวเป็นผู้มีส่วนร่วมในการออกแบบ (ODM) และเป็นเจ้าของแบรนด์เอง (OBM) 

ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังส่งเสริมให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมนำหน้า กลุ่มอุตสาหกรรม BCG (Bio, Circular, Green) และอุตสาหกรรมความยั่งยืน  

“ท่ามกลางวิกฤติ นโยบายทรัมป์ 2.0 อาจจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่เป็นการรีบจ้างผลิตตามคำสั่ง (OEM) และเริ่มล้าสมัย ซึ่งการถูกดิสรัปครั้งนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างทั้งหมด”