จับตา 'ศาลล้มละลายกลาง' ชี้ขาดแก้แผนฟื้นฟู 'การบินไทย' เพิ่ม 2 ผู้บริหารแผน

วันนี้ ! “ศาลล้มละลายกลาง” นัดตัดสินแก้แผนฟื้นฟู “การบินไทย” เคาะปมเสนอ 2 รายชื่อตัวแทนภาครัฐนั่งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม ด้านเจ้าหนี้หวั่นมีผลต่อการเสนอชื่อบอร์ด – การเมืองแทรกแซง
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” โดยระบุว่า วันนี้ (21 ม.ค.68) เวลา 09.00 น. ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 และต่อมาได้มีการนัดไต่สวนเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 เนื่องจากเจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องคัดค้านมติที่ประชุมเจ้าหนี้แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ
สำหรับการพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูของการบินไทย ประกอบด้วย 3 เรื่อง ดังนี้
1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท
2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ
3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
ขณะที่คำร้องคัดค้านมติที่ประชุมเจ้าหนี้แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางนั้นมีประเด็นสำคัญ อาทิ
- กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 ไม่มีสถานะ ฐานะ สิทธิ และหน้าที่ในฐานะเจ้าหนี้ ในวันประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 สืบเนื่องจากมีการแปลงหนี้เป็นทุนตามสิทธิ 100% ทำให้มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น
- การประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาข้อเสนอแก้ไขแผน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting) วันที่ 29 พ.ย.2567 นั้น เป็นการจัดประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรูปแบบตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย
- ตรวจสอบข้อมูลผลลงมติของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พบว่าคะแนนเสียงของเจ้าหนี้ที่ลงมติล่วงหน้าไม่ถูกนำมาคำนวณรวมเป็นมติในที่ประชุมในวันที่ 29 พ.ย.2567
- เรื่องการลงมติในที่ประชุมเจ้าหนี้ทำพร้อมทั้ง 3 วาระ ในคราวเดียว ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ทราบถึงรายละเอียดการลงมติทั้ง 3 วาระในคราวเดียว ส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่ได้ลงมติในวาระการประชุมอย่างครบถ้วน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหนี้การบินไทยซึ่งปัจจุบันมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น มีความกังวลต่อการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาล เนื่องจากมีการเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มตัวแทนจากภาครัฐเข้ามา 2 คน ในช่วงเวลาที่การบินไทยกำลังดำเนินการฟื้นฟูกิจการใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งตนมองว่าหากภาครัฐไม่ส่งตัวแทนมาเป็นผู้บริหารแผน อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็สามารถใช้สิทธิในการส่งตัวแทนมาเป็นบอร์ดได้ ดังนั้นการเร่งรีบส่งตัวแทนเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริหารแผนกำลังทำหน้าที่สุดท้าย ดำเนินการตามเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะต้องเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทย ดังนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งผู้บริหารแผนมีส่วนสำคัญในการรวบรวมเสนอรายชื่อบอร์ด แต่อย่างไรก็ดี อำนาจท้ายที่สุดคือ ผู้ถือหุ้นทั้งหมด ที่จะต้องพิจารณา และลงมติร่วมกันในการคัดเลือก และแต่งตั้งบอร์ดใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.นี้
“การเข้ามามีบทบาทของภาครัฐต่อการบินไทยในช่วงที่ผ่านมา เห็นชัดแล้วว่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะที่ผ่านมาทราบว่าฝ่ายบริหารของการบินไทยโรดโชว์ไปเชิญชวนนักลงทุนมาซื้อหุ้นเพิ่มทุน และได้รับการตอบรับดี แต่เมื่อมีการเข้ามาแทรกแซงของภาครัฐ ก็ส่งผลให้นักลงทุนไม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามเป้าหมาย และการบินไทยพลาดเป้าเพิ่มทุนไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท”
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ภายหลังการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านบริหารงานซึ่งเกิดจากนโยบายของบอร์ดชุดใหม่ที่มาจากตัวแทนผู้ถือหุ้นที่หลากหลาย โดยในฐานะเจ้าหนี้มองว่าหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องมีการตัดสินใจในอนาคตคือ การจัดหาเครื่องบิน เพราะปัจจุบันการบินไทยทำสัญญาจัดหาเครื่องบิน และเครื่องยนต์ร่วมกับบริษัทโบอิง และ บริษัท จีอี แอโรสเปซ จำนวน 45 ลำ
นอกจากนี้ยังทำสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติม (Option Order) อีก 35 ลำ ข้อตกลงในการจัดหาเครื่องบินรวมทั้งหมด 80 ลำ โดยในส่วนของ 35 ลำล็อตหลังนั้น ยังมีสิทธิในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจบอร์ดชุดใหม่ด้วย ดังนั้นในฐานะเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นการบินไทย ต้องการให้บอร์ดชุดใหม่ตัดสินใจอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริหารงานที่จะต้องหารายได้ และใช้คืนหนี้ที่ครบกำหนด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์