OR ทรานส์ฟอร์ม 'องค์กรดิจิทัล' ข้ามคอมฟอร์ตโซนรุก ‘เวอร์ชวลแบงก์’

OR ทรานส์ฟอร์ม 'องค์กรดิจิทัล' ข้ามคอมฟอร์ตโซนรุก ‘เวอร์ชวลแบงก์’

"OR" ทรานส์ฟอร์ม "องค์กรดิจิทัล" ข้ามคอมฟอร์ตโซนรุก "เวอร์ชวลแบงก์" ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลทางธุรกิจเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน

บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในฐานะผู้นำธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกชั้นนำของประเทศ โดย นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR ได้วางแนวทางธุรกิจใหม่สู่การเปลี่ยนผ่านองค์กรครั้งสำคัญ 

OR ได้เปิดกลุ่มดิจิทัลจะช่วยทรานส์ฟอร์มขับเคลื่อนธุรกิจตามเทรนด์โลก และต้องกล้าออกจาก Comfort Zone เพื่อก้าวสู่บทใหม่แห่งการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยก้าวข้ามข้อจำกัดอยู่ในพื้นที่ความถนัดเดิมสู่ Growth Zone ที่เปิดรับโอกาสพัฒนาศักยภาพใหม่

เป้าหมายของ OR จะทำให้เกิด Digital Transformation ด้วยการเป็นบริษัทแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บูรณาการการจัดการระหว่างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกด้วยระบบ SAP S/4HANA ใน 2 อุตสาหกรรม

พร้อมพัฒนาระบบติดตามและควบคุมการดำเนินงานแบบศูนย์รวม (Dashboard Control Tower) ที่เห็นภาพรวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ รวมถึงต่อยอดสู่การพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

ล่าสุด OR ดึงผู้บริหารหนุ่มไฟแรงจาก IBM ตัวจริงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation Journey) ปั้นธุรกิจใหม่ OR ตอบโจทย์เทรนด์โลกครอบคลุมในทุกมิติ

นายภากร สุริยาภิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจดิจิทัลและโซลูชัน OR เปิดเผยว่า การนำดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร และการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และ Lifestyle ให้การตัดสินใจแม่นยำขึ้น

สำหรับทิศทางที่ OR จะเดินคือ การนำเทคฯ มาใช้ผลักดันให้มีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้เตรียมเสนอโรดแมปเข้าที่ประชุมบอร์ดโออาร์ในช่วงต้นปี 2568 ว่าแต่ละปีจะนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างผลประกอบการดีขึ้น โดยหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างไรบ้าง โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ 

1.นำดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการองค์กรให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากระหว่างยูนิต และลดค่าใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น 

2.ดิจิทัลที่นำมาจะต้องสร้างรายได้ในธุรกิจใหม่ เพื่อสนับสนุนธุรกิจใหม่ให้รวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การบริหารสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ (Real Time) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) เพื่อการตัดสินใจ ไปจนถึงการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

สำหรับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งนี้จะเป็นมากกว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเป็นการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ และเพิ่มความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ทั้งยังเสริมสร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการกระจายสินค้าและการสร้างประสบการณ์เชิงดิจิทัลให้แก่ลูกค้า

สำหรับก้าวต่อไปจะต้องทำภาพรวมองค์กรว่าทุกๆ เทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ต้องวัดผลที่ชัดเจน เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของข้อมูลเพื่อดันธุรกิจใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยสิ่งที่เห็นชั้นคือ การนำดิจิทัลมาใช้บูรณาการการจัดการระหว่างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกด้วยระบบ SAP S/4HANA ใน 2 อุตสาหกรรม 

รวมถึงต่อยอดสู่การพัฒนาสู่ธุรกิจใหม่ "ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา" หรือ Virtual Bank ที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลทางธุรกิจซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ซึ่งจะเพิ่มบริการลูกค้าของทั้ง AIS กว่า 40 ล้านราย และลูกค้าธนาคารกรุงไทย ซึ่งขณะนี้มีการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังจำนวนมาก รวมถึงสมาชิกบัตร บลูการ์ดอีกกว่า 8 ล้านราย ให้เข้าถึงบริการทางการเงินให้ง่ายสะดวกและดียิ่งขึ้น

พร้อมพัฒนาระบบติดตามและควบคุมการดำเนินงานแบบศูนย์รวม (Dashboard Control Tower) ที่ช่วยให้มองเห็นภาพรวมการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ เพิ่ม Operational Excellence และ Optimization ในด้านต่างๆ ถือเป็นเครื่องมือให้ผู้บริหารทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจน้ำมันจะสามารถตรวจเช็คราคาว่าซื้อเท่าไหร่ กระจายออกไปที่ไหนบ้าง และขณะนี้ราคาซื้อขายอยู่ที่เท่าไหร่ ต้นทุนขนส่งแบบไหนประหยัดกว่ากัน ลดความเสี่ยงสต๊อกน้ำมันช่วยบริหารจัดการทั้งในเรื่องของกำไรและการขาดทุนได้ดียิ่งขึ้น 

พร้อมปรับ Mode การขนส่ง โดยเพิ่มการใช้ขนส่งทางท่อแทนทางรถยนต์หรือรถไฟ เพื่อการบริหารจัดการด้านระบบ Logistic ให้ Optimization มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้พัฒนา Retail Mixed-Use Platform รูปแบบใหม่ผ่าน PTT Station Flagship ด้วย

“ยอมรับว่าการพัฒนาทักษะบุคลากรสำคัญที่สุด เรามีพนักงานราว 2,000 คน แบ่งเป็นเจน Y 59.1%, เจน X, 23.3 เจน Z, 17.4% และเจน B ที่ 0.2% ขณะนี้กว่าครึ่งหนึ่งสามารถเรียนรู้และปรับทักษะได้ดี จึงต้องเสริมทักษะบุคลากรเพื่อรับกับดิจิทัลใหม่ที่ต้องเปิดรับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้เรื่องใหม่ให้สามารถเติบโตก้าวไปด้วยกัน" 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เทรนด์ปัจจุบัน ทั้ง ไอเอ ดาต้าเซนเตอร์ เป็น Generative AI ที่มีบทบาทเยอะ หลายองค์กรทั่วโลกศึกษาสร้างโอกาส จึงอยู่ที่ว่าธุรกิจไหนจะนำมาปรับใช้กับองค์กร

รวมทั้ง OR มีการประชุมเยอะ การใช้ AI มาช่วยสรุปเอกสารถือเป็นหัวใจสำคัญ ช่วยลดขั้นตอนทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น การจะทำธุรกิจใหม่ที่มีข้อมูลจำนวนเยอะก็จะต้องศึกษา ทั้งการจะสร้างสถานีบริการน้ำมันจะต้องหาข้อมูลจำนวนคน พฤติกรรม เป็นต้น

“ถ้าเราไม่ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลก็จะสู่กับใครไม่ได้ ทุกวันนี้ไม่มีบริษัทใดไม่รู้จักดิจิทัล หากยังทำการซื้อขายแบบเดิมจะเดินตามโลกไม่ทัน ถือเป็นพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องนำมาปรับใช้ให้ได้ประสิทธิภาพ" 

รวมทั้งหากโดยเฉลี่ยการนำดิจิทัลมาช่วยจะลดต้นทุนที่ 15-20% บางสาขาลดถึง 30% แต่หากเป็นการทำโฆษณาช่วยลดต้นทุนได้ถึง 50-80% ในขณะที่ทุนด้านดิจิทัลเบื้องต้นอยู่ที่ 20-30% ของสิ่งที่จะได้รับ หมายถึงหากจะประหยัดต้นทุน 100 บาท การลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 20-30 บาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์