เปิดแผนกลุ่ม ปตท.เร่ง 'เน็ตซีโร่' รุกเทคโนโลยี 'ซีซีเอส -ไฮโดรเจน'
กลุ่ม ปตท.ย้ำเป้าหมายความยั่งยืนลดคาร์บอน ดัน “CCS - ไฮโดรเจน” เคลื่อน ปตท.สู่เป้า Net Zero ปี 2050 “โออาร์”ชู 4 กลยุทธ์ สู่ความยั่งยืนเร่งพัฒนาต้นน้ำสู่ Community Mall เคียงคู่คนตัวเล็ก‘ไทยออยล์’ ปรับโครงสร้างผสานความร่วมมือ ดันองค์กรสู่เป้า Net Zero ปี 2060
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” วันที่ 3-4 ธ.ค.2567 ซึ่งเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน โดยเน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืนซึ่งครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การจัดงานวันที่ 4 ธ.ค.2567 มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม ปตท.ในรอบการเสวนาหัวข้อ PTT Insight Together for Sustainable
นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ผ่านมาได้ทำโครงการปลูกป่า 1.2 ล้านไร่เสร็จแล้ว และตั้งเป้าหมายเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ และในกลุ่ม ปตท.อีก 1 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.วัดผลดัชนีด้านความยั่งยืน ดัชนีความยั่งยืน DJSI ซึ่ง ปตท.ได้รางวัลตั้งแต่ ปี 2012 ถือว่าได้รับการยอมรับตลอด 13 ปีที่ผ่านมาเป็นต้น รวมถึงรางวัลความยั่งยืนในประเทศไทยด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายประเทศ 15 ปี
“ปตท.มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนต้องสร้างการเติบโตยั่งยืน และต้องรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเดินหน้าสร้างการเติบโตต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน พร้อมกับให้เศรษฐกิจเดินหน้าควบคู่กับสังคม และชุมชน”
นอกจากนี้ ความยั่งยืนได้เข้ามาสร้างโอกาสให้ ปตท.และประเทศช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มถือเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยนโยบาย ESG ที่ต้องขับเคลื่อนได้เดินหน้าธุรกิจใหม่ด้วยหลัก C3 คือ
1.ปรับ Portfolio การลงทุน ดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า Climate-Resilience Business
2.ปรับปรุง Asset ที่มีอยู่ โดยการลดคาร์บอน เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ Carbon Conscious Asset
3.ร่วมมือกันผลักดันการลดคาร์บอน ยกตัวอย่างเช่น การปลูกป่า ซึ่งก็ยังมีข้อจำกัด จึงต้องพึ่งพาสิ่งที่สำคัญมาก ได้แก่ CCS Coalition, Co-creation & collective Efforts for All
ร่วมมือใน-นอกองค์กรสู่เป้าลดคาร์บอน
“ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เน้นใช้พลังงานสะอาด ประสานความร่วมมือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS รวมถึงเทคโนโลยีไฮโดรเจน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)"
ทั้งนี้ ปตท.เติบโตร่วมกับไทยจึงต้องทำธุรกิจร่วมกับการลดคาร์บอน จึงต้องร่วมมือทั้งกลุ่มปตท. และพาร์ตเนอร์ทั้งใน และต่างประเทศ การปรับพอร์ตธุรกิจคาร์บอนต่ำ จะต้องดูว่าใครเก่งตรงไหนก็ทำตรงนั้น เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ทำด้านพลังงานสะอาด ก็อาจจะต้องศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วย
ส่วนบริษัท โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะทำในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จะลงทุนผลิตภัณฑ์น้ำมันไบโอเจ็ตเพื่อส่งให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขาย อีกทั้ง OR จะสนับสนุนอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
“CCS-ไฮโดรเจน” กุญแจความยั่งยืน
นอกจากนี้ ปตท.เร่งผลักดันธุรกิจใหม่ในการดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดำเนินการโดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ เป็นแห่งแรกของไทยที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
รวมถึง เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 10 ล้านตันต่อปี และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ปี 2030 ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต
“สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือ และมอง 2 โครงการใหญ่ในระยะสั้นนี้ คือ เทคโนโลยี CCS และไฮโดรเจน จะทำให้ถึงเป้า Net Zero ได้ แต่ต้องร่วมมือทุกภาคส่วน กุญแจสำคัญคือ หากต้องการพลังงานสะอาด ราคารับได้ สุดท้ายภาครัฐต้องทำงานใกล้ชิด”
ลุยเป้าหมาย OR 2030 Goals ใน 3 มิติ
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า นโยบาย และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของบริษัท ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล
ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดเป้าหมายองค์กรในปี 2573 หรือ OR 2030 Goals ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ โดยครอบคลุมการดำเนินงานใน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อม (Planet) มิติสังคม (People) และมิติเศรษฐกิจ (Performance) ได้แก่
1.ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจ และชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจในระยะทาง 5 กม. ซึ่งมีจำนวนกว่า 17,000 ชุมชน หรือมากกว่า 12 ล้านชีวิต
2.การสร้างการเติบโต สร้างอาชีพ และการกระจายความมั่งคั่งสู่คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการขนาดย่อม พนักงาน มากกว่า 1 ล้านราย ผ่านการเติบโตโดยการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ
3.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ เพิ่มปริมาณการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ให้ได้มากกว่า 1 ใน 3 จากการดำเนินธุรกิจเมื่อเทียบกับปี 2565
อนาคตยั่งยืนผ่านSDGแบบฉบับOR
นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวคิดการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน SDG ในแบบฉบับของ OR ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตเคียงข้างชุมชน เศรษฐกิจและสังคม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย OR 2030 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย OR SDG ประกอบด้วย
1.SMALL โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก เช่น โครงการไทยเด็ด สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 120 ล้านบาท, ระบบรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรผ่าน KALA Application และเพิ่มจุดรับซื้อที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่, Café Amazon for Chance จ้างงานผู้ด้อยโอกาสกว่า 300 ราย และจะเปิดรับต่อเนื่อง ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน
2.DIVERSIFIED โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ โดยเปลี่ยนจากธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก เป็นธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม และในอนาคตจะเข้าสู่ธุรกิจ Health และ Wellness โดยขณะนี้ได้เปิดร้านค้าปลีกสินค้าสุขภาพ และความงาม “found & found”
3.GREEN โอกาสเพื่อสังคมสะอาดที่ทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานในการติดตั้งจุดชาร์จ EV และการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป รวมถึง Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่ลงนามความร่วมมือการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส และไทยเวียตเจ็ท
ลุยเป้าหมายติดตั้งสถานีชาร์จ 6,000 แห่ง
สำหรับ 4 กลยุทธ์ ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของ OR ประกอบด้วย
1.Thailand Mobility Partner โดยได้มีการติดตั้งจุดชาร์จ EV ครบ 77 จังหวัด ขยายจุดชาร์จ 2,000 จุด และมีเป้าหมายขยายไปถึง 6,000 จุด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงพลังงานได้ทุกช่องทาง นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเป็น Net Zero ในปี 2050 (2593)
2. Café Amazon Completed Value Chain โดยไม่เกิน 2-3 ปี ไทยจะมีจุดนวัตกรรมใหม่พัฒนาต้นกล้ากาแฟดีที่สุด และสร้าง Café Amazon Park จ.ลำปาง เสร็จกลางปี 2568 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำการผลิตกาแฟ
3. From Oil To Community การไปสู่ Community Mall และ 4. Digital Transformation โดย OR จะขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร เพื่อปรับปรุงกระบวนการในทุกรูปแบบ
“ความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่การช่วยคนตัวเล็กที่อยู่ในชุมชน และสังคม โดยทุกการลงทุนจะพิจารณาความคุ้มทุนโดยมีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในพอร์ตที่ 30% ปี 2050”
“ไทยออยล์”ปรับโครงสร้างรับเทรนด์อนาคต
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกำกับผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยออยล์ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นบริษัทแรกที่ได้รับการประเมิน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ปี 2021 พร้อมเป็นสมาชิก UN Global Compact ข้อตกลงในการกำกับดูแลกิจการ เพื่อมุ่งเป็นบริษัทที่สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายของไทยออยล์คือ การทำธุรกิจพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่มีการผลิต และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีการตั้งเป้าว่าทางบริษัทจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และจะผลักดันให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2060 ต่อไป
“เราปรับโครงสร้างเพื่อให้แผนสู่เป้าหมายตอบโจทย์เทรนด์อนาคต เรามีพันธมิตรธุรกิจจึงต้องสร้างผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์โลกเพื่อให้พาร์ตเนอร์ชิปอยู่ได้ ทั้งใน และนอกกลุ่มให้ไปสู่แพลตฟอร์มใหม่ๆ ตอบโจทย์ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ และที่สำคัญต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ช่วยเติมเต็มอีโคซิสเต็ม รัฐบาลจึงมีส่วนสำคัญผลักดันภาคธุรกิจด้านผลักดันกฎหมาย และระเบียบใหม่”
ลดปล่อยคาร์บอนต้นทางสร้างความยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยออยล์จะบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของไทยออยล์จะมีกรอบดำเนินการคือ เริ่มจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้น ปรับใช้เทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) การปลูกป่าเพื่อชดเชย และช่วยในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการผลักดันธุรกิจดูแลสุขภาพตามเทรนด์ และพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น คาร์บอนสีเขียว พร้อมกับการคำนึงถึงคาร์บอนเครดิตอย่างเข้มข้น
นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังมีการผลักดันเพื่อเติบโตร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งในการสร้างโรงพยาบาลชุมชน สนับสนุนการจัดสร้าง และงบประมาณแก่สถานพยาบาลในท้องถิ่น และผลักดันการใช้พลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ให้แพร่หลาย เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างโปร่งใส และเข้มแข็ง
ลุยศึกษาน้ำมันอากาศยานยั่งยืน BIO JET
ส่วนความร่วมมือกับบริษัทในเครือของกลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยไทยออยล์ศึกษาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ โดยเฉพาะการใช้เอทานอลจากผลผลิตมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อใช้เป็นน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) หรือ BIO JET พร้อมการพัฒนาระบบดักจับคาร์บอน CCS ที่ร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ปตท.เพื่อเป้าหมายสำคัญ Net zero
ทั้งนี้ มาตรการความยั่งยืนทั้งหมดต้องได้รับการสนับสนุน และร่วมมือจากทุกด้านทั้งองค์กรในเครือ และองค์กรภายนอก โดยเฉพาะภาครัฐต้องมีกลไกไปจนการออกมาตรการ และกฎหมายสนับสนุนจึงจะบรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายแรกสุดในการผลักดันองค์กรสู่ความยั่งยืนของไทยออยล์คือ การดำเนินธุรกิจจะมี ESG เป็นส่วนตัดสินใจ และเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน มีการปรับโครงสร้างองค์กรสู่ต่างประเทศมากขึ้น สร้างความร่วมมือทั้งกับใน และนอกเครือ พร้อมนำเทคโนโลยีมาปรับใช้งานเพื่อขับเคลื่อนไทยออยล์
“การทำเรื่อง ESG โครงสร้างองค์กรจึงสำคัญ เพราะคุณค่าพนักงานคือ คุณค่าของไทยออยล์ จึงต้องพร้อมรองรับธุรกิจใหม่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสู่องค์กรคาร์บอนต่ำ”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์