Airbus หนุนไทยศูนย์กลางการบิน เทรนด์“คน-เทคโนโลยี”มาตรฐานสากล

ขีดความสามารถทางการบินของประเทศไทย กำลังส่งให้ไทยคว้าเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคและของโลก ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เล่าถึงคำจำกัดความของคำว่า “Hub”
โดยอ้างอิง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ International Civil Aviation Organization(ICAO) ที่ระบุไว้ใน Manual on the Regulation of International Air Transport (DOC 9626) ว่า A hub airport or hub หมายถึง ท่าอากาศยาน ที่มีปริมาณเที่ยวบินขาเข้าและขาออกเป็นจำนวนมาก และมีในสัดส่วนที่เป็นเปอร์เซ็นต์สูง
A regional hub หมายถึง ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการในภูมิภาคของรัฐภาคี รัฐใดรัฐหนึ่งหรือเป็นศูนย์กลางที่ให้บริการในภูมิภาค ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐภาคีมากกว่าหนึ่งรัฐภาคี ขณะที่ An interline hub หมายถึง ท่าอากาศยานที่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งมีการเจรจาในลักษณะของการเชื่อมต่อหรือการเปลี่ยนถ่ายเที่ยวบินระหว่างสายการบินต่างๆ
ด้านคำจำกัดความของคำว่า “Hub” จากองค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ Federal Aviation Administration (FAA)
บอกไว้ว่า Hub หมายถึง airline terminal และ ท่าอากาศยานที่ให้บริการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร เพื่อต่อเที่ยวบินไปยังจุดต่าง ๆ ทั้งนี้ การให้บริการ connecting flights จะต้องมีจำนวนมาก
ท่าอากาศยานกรุงเทพ (ทกท.) มีคุณสมบัติสมควรเป็น “Hub” ทั้งในลักษณะของ hub airport, regional hub และ interline hub โดยมีข้อมูลประกอบจากการสำรวจและเก็บข้อมูล โดย International Air Transport Association (IATA) ปรากฏว่า จำนวน ของ country -pairs ของสนามบินในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเป็นดังนี้ Singapore 72 country-pairs ,Thailand 69 country-pairs , Taiwan 42 country-pairs , Korea 60 country-pairsและ Malaysia 45 country-pairs
ปัจจุบัน ทกท. มีจำนวนสายการบินทั้งหมด 78 สายการบิน ครอบคลุม 163 เมืองทั่วโลกและมีบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เป็นสายการบินหลักของประเทศไทย โดยมี ทกท. เป็น home base ซึ่งให้บริการการบินไปยังจุดต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 72 เมือง ใน 4 ทวีปทั่วโลก
ซึ่งการบินไทยได้เข้ารวมเป็นพันธมิตรกับสายการบิน Lufthansa, United Airlines, SAS, Air Canada และ Varig ในนาม STAR alliance ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพของการขยายจุดบินได้มาก
เพื่อต่อเติมศักยภาพในบรรลุเป้าหมายของประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ อานันท์ สแตนลีย์ ประธานและหัวหน้า Airbus ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคณะ ได้เข้าพบ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) พร้อมร่วมมือกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยการบินของไทยให้อยู่ในระดับสากล และขยายขีดความสามารถการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต
“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับนโยบาย Aviation Hub โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาท่าอากาศยานโดยเพิ่มขีดความสามารถและผู้ใช้บริการเป็น 250 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2575”
นอกจากนี้ไทยยังมีแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ ท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้ 22.5 ล้านคนต่อปี ส่งเสริมให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับเที่ยวบินระยะไกล มีท่าจอดเครื่องบินทะเลและเรือข้ามฟากสำหรับนักเดินทางระดับพรีเมียมเสริมด้วย
ท่าอากาศยานล้านนาที่ได้มีการวางแผนก่อสร้างเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ (ทิศใต้) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลและจัดหาสิทธิทางการบินให้เพียงพอต่อความต้องการของสายการบินต่าง ๆ จะมุ่งมั่นบริหารจัดการและจัดสรรเวลาการทำการบินในแต่ละฤดูกาลอย่างเหมาะสม และกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมการบิน
“ความร่วมมือที่ผ่านมา Airbus ได้มีการ MOU กับ กพท. เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การบริหารจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกภาคการบิน (MRV) และการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) โดย Airbus ได้สนับสนุนในเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร การจัดสัมมนา การสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี (Technical Assistance) ให้แก่อุตสาหกรรมการบินและสายการบินของไทย รวมถึงสนับสนุนงบประมาณ และการส่งต่อความรู้และประสบการณ์ ผ่านการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาระบบกำกับดูแลด้านการบินของ กพท. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
ในโอกาสนี้ Airbus ได้กล่าวขอขอบคุณกระทรวงคมนาคม พร้อมมั่นใจว่าความก้าวหน้าและนวัตกรรมของ Airbus จะเป็นประโยชน์ต่อภาคการบินของไทย ขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันทำงานต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการบินของไทยให้อยู่ในระดับสากล และ Airbus มุ่งหวังที่จะสำรวจขอบเขตความร่วมมืออื่น ๆ เพื่อปูทางไปสู่อนาคตการบินที่ยั่งยืนต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่าประเทศไทยได้มี คณะทำงานบูรณาการการกำหนดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ 7/2567 สั่ง ณ วันที่ 4 ก.ย. พ.ศ.2567 ประกอบด้วยผู้แทนจาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และกรมท่าอากาศยาน
"ในการประชุมเมื่อเร็วๆนี้ ได้หารือถึงเรื่อง แนวทางในการจัดสรรเวลาการบิน (Slot Allocation) ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำกับดูแล, การหารือแนวทางในการกำกับดูแลสนามบินและสายการบิน รวมถึงการบริหารจัดการการจราจรทางอากาศให้เกิดประสิทธิภาพ, การเสนอแนวทางการกำหนดมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO), การให้คำปรึกษา แนะนำ ข้อเสนอแนะในการทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบให้
เหมาะสมและเป็นปัจจุบันเพื่อส่งเสริมการบริการในภาคอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะในกลุ่ม Luxury Tourism ที่เดินทางด้วย Private Jet ให้มีความชัดเจน และสอดรับกับมาตรฐานสากล
ความพยายามของไทยบวกกับความร่วมมือของพันธมิตรจากต่างประเทศจะส่งเสริมให้ไทยพิชิตเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินได้ซึ่งจะส่งต่อความมั่งคั่งไปยังเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป