จับตา ‘ยูเนสโก’ เคาะปม ‘สถานีอยุธยา’ การรถไฟฯ หวังลงนามสร้าง ม.ค.68

จับตา ‘ยูเนสโก’ เคาะปม ‘สถานีอยุธยา’ การรถไฟฯ หวังลงนามสร้าง ม.ค.68

เปิดปมไฮสปีดไทย - จีนล่าช้า สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ยังไม่ลงนามสัญญา “บุญชัยพาณิชย์“ ติดหล่มมา 4 ปี จากเหตุข้อกังวลเรื่องผลกระทบมรดกโลก จับตา “ยูเนสโก” ลงพื้นที่สำรวจและประเมินผลกระทบ 18-22 ม.ค.2568 ขณะที่ รฟท.จ่อลงนามสัญญาจ้างสร้าง

KEY

POINTS

  • เปิดปมไฮสปีดไทย - จีนล่าช้า สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ยังไม่ลงนามสัญญา "บุญชัยพาณิชย์" ติดหล่มมา 4 ปี จากเหตุข้อกังวลเรื่องผลกระทบมรดกโลก 
  • ล่าสุดการรถไฟฯ จัดทำรายงาน HIA และเสนอต่อกับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 
  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แจ้ง "ยูเนสโก" ตอบรับลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจและประเมินผลกระทบ ในวันที่ 18-22 ม.ค.2568
  • ขณะที่การรถไฟฯ เตรียมชงบอร์ดเคาะแนวทางแก้ปัญหา เตรียมลงนามสัญญาจ้างเอกชน ม.ค.2568 เปิดรูปแบบสัญญากำหนดสร้างทางรถไฟก่อน พร้อมทำสัญญาแนบท้ายยืนยันให้สิทธิสร้างสถานีอยุธยา

การก่อสร้าง สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสัญญาที่ 4-5 ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ แม้ว่าจะเปิดประกวดราคาและได้ตัวเอกชนตั้งแต่ปี 2563 โดยในขณะนั้นมีผู้เสนอราคาทั้งหมด 7 ราย จากผู้ซื้อซองเอกสาร (TOR) ทั้งหมด 25 ราย และผลปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ชนะการประมูลด้วยราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท หรือลดลง 16% ราคากลาง 11,801 ล้านบาท และท้ายที่สุดติดปัญหายืดเยื้อไม่สามารถลงนามสัญญาได้ ส่งผลให้ ITD ไม่ยืนราคา จนเป็นผลทำให้ต้องเจรจากับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุดรายถัดมา 

และ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายที่ 3 และยืนราคาก่อสร้าง มูลค่าสัญญา 10,325.96 ล้านบาท ปัจจุบันจึงเป็นผู้ชนะการประมูลที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมลงนามสัญญาจ้าง 

สำหรับปัญหาที่กระทบต่อการลงนามสัญญาจ้างนั้น เกิดจากข้อกังวลเกี่ยวกับงานก่อสร้าง “สถานีอยุธยา” ที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อ “มรดกโลก” ทำให้ต้องดำเนินการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) โดย รฟท.ได้ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) 

โดยความคืบหน้าทาง รฟท.ได้จัดทำรายงาน HIA และเสนอต่อกับคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2567 โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ให้ รฟท. เพิ่มเติมข้อมูล ประกอบด้วย

  • เพิ่มเติมการทบทวนแผนพัฒนาโครงการรถไฟ 
  • การเชื่อมต่อด้านคมนาคมทุกโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 
  • ปรับปรุงการเรียงลำดับเนื้อหารายงาน ให้เป็นไปตาม Guideline 

ทั้งนี้ รฟท. จะเร่งรัดดำเนินการ และให้รายงานกลับไปที่คณะกรรมการฯ ใหม่อีกครั้ง ประมาณเดือน ม.ค.2568 โดยความคืบหน้าล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แจ้ง รฟท.  ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ตอบรับว่าจะร่วมลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 18-22 ม.ค.2568

“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท. ได้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ในส่วนของการก่อสร้างสถานีอยุธยา โดยจะใช้วิธีให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทางรถไฟไปก่อน พร้อมออกแบบสถานีอยุธยารอไว้ จนกว่าจะได้ข้อยุติเรื่องมรดกโลก ซึ่งหากยูเนสโกเห็นชอบรายงาน HIA รฟท.ก็จะดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยาทันที 

"ขั้นตอนการอนุมัติ HIA จะต้องมีการพิจารณาในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีสมาชิกเเห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 2 ปี ดังนั้นการรถไฟฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สามารถรอได้ เพราะจะทำให้โครงการรถไฟไทย-จีน ล่าช้าออกไปอีก จึงหารือกันว่าต้องก่อสร้างทางรถไฟไปก่อน ซึ่งอาจต้องระบุเงื่อนไขไว้ในสัญญา ว่าจะมอบให้ทางผู้รับเหมารายนี้ก่อสร้างสถานีอยุธยาในภายหลัง"

ด้านรายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาที่ 4-5 เพื่อก่อสร้างงานโยธารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในวงเงิน 10,325 ล้านบาท ได้ประมาณช่วงเดือน ม.ค.2568 ภายหลังจากผู้เชี่ยวชาญฯจากยูเนสโกลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้โครงการรถไฟไทยจีนจะคืบหน้าไปอีกสัญญา เหลือสัญญาที่รอการลงนามก่อสร้าง คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กิโลเมตร ซึ่งจะเจรจาให้คู่สัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นผู้ก่อสร้าง เนื่องจากมีโครงสร้างทางรางร่วมกัน