4 แผนงาน - นโยบายรัฐบาลเสี่ยงสะดุด ผวา 'สุญญากาศ' หลัง ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว.

4 แผนงาน - นโยบายรัฐบาลเสี่ยงสะดุด ผวา 'สุญญากาศ' หลัง ศาลรธน.รับคำร้อง 40 สว.

จับตา 4 ประเด็นบริหารงานรัฐบาลอาจสะดุด หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.ปมนายกฯ ตั้งพิชิต แม้ไม่สั่งนายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่งานอาจล่าช้า “เศรษฐา” ลั่นไม่กระทบการทำงาน “ผู้แทนการค้า” เผยนายกฯ ไม่ปรับแผนเดินทางต่างประเทศ เร่งเปิดตลาดลงทุนการค้าหลายภูมิภาค

KEY

POINTS

  • หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว.ปมนายกฯ ตั้งพิชิต แม้ไม่สั่งนายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่งานอาจล่าช้ากว่าแผน
  • 4 ประเด็นบริหารงานรัฐบาลที่อาจสะดุดได้แก่ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต การจัดทำงบประมาณ และการรับมือน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน
  •  “เศรษฐา” ลั่นไม่กระทบการทำงานระยะสั้น-ระยะยาว ลุยเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นต่างชาติลงทุนไทย “ผู้แทนการค้า” เผยนายกฯ ไม่ปรับแผนเดินทางต่างประเทศ เร่งเปิดตลาดลงทุนการค้าหลายภูมิภาค

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับคำร้องของกลุ่ม 40 สว.เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2567 กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เพราะเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง มีคำสั่งรับคำร้องนายเศรษฐาไว้พิจารณา และเสียงข้างมาก 5:4 ให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาทำให้หลายฝ่ายยังคงติดตามคดีนี้ ซึ่งอาจทำให้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลสะดุดลงในระหว่างรอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้รัฐบาลอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ”

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมประเด็นการบริหารงานที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อย่างเร่งด่วนพบว่ามีนโยบายหลายด้าน ซึ่งหากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่านายกรัฐมนตรีดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน โดยมี 4 ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่นายกรัฐมนตรีกำลังเร่งดำเนินการได้แก่

1.การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท ซึ่งตามกำหนดแล้วโครงการนี้ต้องแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี เพื่อให้เริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งโครงการนี้ก็จะล่าช้าออกไปด้วย

2.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย นายเศรษฐาได้กำหนดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ 27 พ.ค.2567 ซึ่งเป็นการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งแรกของรัฐบานี้ 

สำหรับการประชุม ครม.เศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีกำหนดให้มีขึ้นหลังจากที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.5% ต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน 

ก่อนหน้านี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2567 ว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องทำทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่กันไป

 

3.การจัดทำงบประมาณของภาครัฐ ปัจจุบันรายจ่ายของภาครัฐที่มาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลยังคงเหลืองบประมาณที่ใช้ในการเบิกจ่ายรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท 

นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ในช่วงทำงบประมาณอีก 2 ฉบับได้แก่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน รวม 3.752 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท โดย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 มีกำหนดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 5-6 มิ.ย.2567

รวมทั้งรัฐบาลยังอยู่ระหว่างการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2567 (งบประมาณกลางปี 2567) วงเงินประมาณ 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำรายละเอียดและกรอบงบประมาณเข้าสู่การประชุมของ ครม.ในวันที่ 28 พ.ค.2567 โดยวงเงินในส่วนนี้เป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อทำโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

ภารกิจเร่งด่วนรับมือ“ลานีญา”

4.การเตรียมการรับมืออุทกภัยของรัฐบาล โดยในปี 2567 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานให้รัฐบาลทราบว่าสภาวะเอลนีโญในประเทศไทยอ่อนกำลังลง และมีโอกาสจะเปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567 ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ ได้แก่ คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ

รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 

นอกจากนี้ จะมีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติเร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ และติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“คลัง”ชี้ไม่กระทบเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขั้นตอนในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็มีกระบวนการที่ส่วนงานจะต้องตรวจสอบ ซึ่งคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีก็เห็นชอบ และหน่วยงานต้องไปตรวจสอบความเห็นชอบ จึงจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นกระบวนการเหล่านี้มีความรัดกุม ดังนั้นจึงไม่ได้ห่วงกังวลในประเด็นใดๆ

“วันนี้ถึงแม้ทาง ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องก็ตาม แต่ก็ไม่ได้สั่งนายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่ได้กระทบต่อการทำงานในภาระหน้าที่นายกรัฐมนตรี ยังทำงาน เต็ม100% และเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อไป เมื่อนายเศรษฐา กลับมาเมืองไทยก็ยังทำงานต่อรวมทั้งไม่มีความกังวลเรื่องการเดินหน้าโครงการต่าง มีหน้าที่ตรงไหนก็ทำต่อเนื่อง และยังไม่ได้เตรียมแผนสอง” นายจุลพันธ์ กล่าว

“เศรษฐา”ยืนยันไม่กระทบการทำงาน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วม Nikkei Forum of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.2567 โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม ระหว่างพบปะผู้บริหารเอกชนของญี่ปุ่น 

สำหรับการหารือบริษัทญี่ปุ่นในวันที่ 23 พ.ค.2567 ได้พบกับผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่น 3 บริษัท เกี่ยวกับการขยายการลงทุนในไทย คือ 1.บริษัท Mitsui & Co., Ltd.  2.บริษัท Ajinomoto Co., Inc. และ 3.บริษัท Sony Group Corporation 

นายเศรษฐา กล่าวระหว่างหารือกับบริษัทญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายละเอียดปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติให้สอดคล้องแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริษัทต่างชาติที่สนใจลงทุนในไทย และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่มีผลกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศหรือการปฏิบัติหน้าที่ระยะยาว 

“เรามีภารกิจอยู่แล้ว และเราก็ต้องแยกแยะให้ถูก เรื่องปัญหาที่บ้านเราก็ต้องแก้ไขกันไป ก็มีทีมงานที่ช่วยดูเรื่องอยู่แล้ว เป็นธรรมดาของการเข้าสู่เวทีการเมือง ความจริงก็ไม่อยากพูดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องรับทราบและจะต้องให้ความกระจ่างต่อสาธารณชน” นายเศรษฐา กล่าว

นายกฯลุยแผนเพิ่มเชื่อมั่นต่างประเทศ

นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเปิดตลาดการค้าในต่างประเทศยังคงเดินหน้าต่อไปตามปกติ ยังไม่ได้มีการปรับหรือยกเลิกแผนที่วางไว้แต่อย่างใด 

ทั้งนี้ในส่วนของผู้แทนการค้าไทย ได้เตรียมแผนการเจาะตลาดการค้าในประเทศเป้าหมาย ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนภายในปี 2567 โดยเป้าหมายในการเปิดตลาดใหม่ของนายกรัฐมนนตรี เช่น ตลาดแอฟริกาและอินเดีย ซึ่งตลาดทั้ง 2 ประเทศถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และน่าจะเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยเข้าไปทำการค้าและลงทุนต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้กำลังดูว่าแอฟริกามี 2 ประเทศที่น่าสนใจที่จะส่งเสริมการเข้าไปเจาะตลาดการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเร็ว ๆ น่าจะได้ข้อสรุป ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนในปี 2567 

ทั้งนี้ตลาดแอฟริกายังมีความต้องการสินค้าของไทยหลายประเทศ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเกษตร ขณะที่อินเดียก็เป็นตลาดใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำลังเตรียมแผนเดินทางไปเยือน แต่ขอรอให้การเลือกตั้งภายในประเทศอินเดียเสร็จสิ้นก่อน ซึ่งจะมีความแน่นอนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ผู้แทนการค้าไทยเตรียมนำคณะนักธุรกิจของไทย เดินทางไปโรดโชว์เจาะตลาดการค้า 2 ประเทศ คือ บังกลาเทศ และซาอุดีอาระเบีย โดยเริ่มที่บังกลาเทศเพื่อต่อยอดการค้าและการลงทุน ภายหลังนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) เมื่อวันที่ 24-29 เม.ย.2567

สำหรับตลาดบังกลาเทศจะเจาะการค้าและการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไทยที่มีศักยภาพทั้งด้านธุรกิจอาหาร และการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป รวมจะเริ่มต้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน ส่วนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการต่อยอดความร่วมมือภายหลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย