Thailand Turbulence ประเทศไทยตกหลุมอากาศ

Thailand Turbulence ประเทศไทยตกหลุมอากาศ

ระหว่างที่ศาลมีคำสั่ง นายกฯ เศรษฐาอยู่ที่ญี่ปุ่นกำลังหารือกับผู้บริหารบิ๊กเนม เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น บรรดานักลงทุนต่างชาติที่เคยคุยกับนายกฯ เศรษฐาจะคิดอย่างไร จะกล้ามาลงทุนในไทยอีกหรือไม่ ถ้ามองในแง่ความต่อเนื่องของรัฐบาลพลเรือน

ตกใจกันถ้วนหน้ากับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยประจำไตรมาสหนึ่งขยายตัว 1.5% ส่งผลสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยประจำปี 2567 จากเดิม 2.7% มาอยู่ที่ 2.0-3.0% โดยมีค่ากลางที่ 2.5% ซึ่งตัวเลข 1.5% นี้ถือว่าดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ ทั้งยังช่วยให้ไทยไม่ต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) และที่เติบโตขนาดนี้ได้ เพราะมีแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศและภาคท่องเที่ยวมาช่วยเอาไว้  

ก็ในเมื่อตัวเลขออกมาดีเกินคาด (1.5%) แล้วยังจะมาตกอกตกใจอะไรกันอีก? ในโลกแห่งการเปรียบเทียบหันไปมองจีดีพีเพื่อนบ้าน ปรากฏว่าเรารั้งท้ายในอาเซียน ดูกันเฉพาะไตรมาสหนึ่งในบรรดาห้าประเทศอาเซียนรุ่นก่อตั้ง เวียดนามโต 5.7% มาเลเซีย 4.2% อินโดนีเซีย 5.1% ฟิลิปปินส์ 5.7% ส่วนสิงคโปร์ตัวเลขล่าสุดออกมาเมื่อวานนี้ (23 พ.ค.) จีดีพีไตรมาสหนึ่งขยายตัว 2.7% ดูอาการแล้วเศรษฐกิจไทยมีปัญหาโตต่ำเรื้อรัง สาเหตุใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกที่ไทยควบคุมไม่ได้ เช่น ความไม่แน่นอนจากภูมิรัฐศาสตร์ สงครามกาซา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีวี่แววยุติ, สหรัฐ-จีน ทำสงครามการค้าและมีมาตรการกีดกันทางการค้าออกมา 

นี่คือปัจจัยภายนอกแล้วปัจจัยภายในมีหรือไม่? เดือนนี้พฤษภาคม หากจำกันได้เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เพิ่งครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้งหลังยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารผู้ผันตัวมาเป็นนายกรัฐมนตรี จากวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ผ่านไปกว่าสามเดือน คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับหน้าที่ เท่ากับว่าเป็นสามเดือนกว่าที่ว่างเปล่ารัฐบาลรักษาการทำนโยบายใหม่ๆ ไม่ได้ นี่คือเวลาที่ประเทศไทยเสียไปกับกระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนญู 2560 อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องของอดีตไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บ มาดูเรื่องปัจจุบันกันดีกว่า 

วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง มีคำสั่งรับคำร้องนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไว้พิจารณา โดยไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีที่นายกฯ เศรษฐาแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ต้องชี้แจงภายใน 15 วัน หรือขยายเวลาออกไป ระหว่างนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะแสวงหาข้อเท็จจริงไปพร้อมๆ กันด้วย 

นี่เป็นกระบวนการที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ วานนี้ระหว่างที่ศาลมีคำสั่ง นายกฯ เศรษฐาอยู่ที่ญี่ปุ่นกำลังหารือกับผู้บริหารบริษัทมิตซุย, อายิโนะโมะโต๊ะ และโซนี บิ๊กเนมที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี มองในมุมนักธุรกิจ ลองจินตนาการดูว่า เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น บรรดานักลงทุนต่างชาติที่เคยคุยกับนายกฯ เศรษฐาจะคิดอย่างไร จะกล้ามาลงทุนในไทยอีกหรือไม่ถ้ามองในแง่ความต่อเนื่องของรัฐบาลพลเรือน

อดเชื่อมโยงไม่ได้กับเหตุการณ์สิงคโปร์แอร์ไลน์ตกหลุมอากาศอย่างแรงจนต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันก่อน หากรัฐบาลไทยตกหลุมอากาศอย่างแรงขึ้นมาบ้างคนที่บาดเจ็บล้มตายหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ ถึงคราวนี้ไม่ต้องร้องแรกแหกกระเชอว่าทำไมเศรษฐกิจไทยโตช้า