‘เศรษฐา’ อยู่ ญี่ปุ่น หลัง ศาลรธน. รับคำร้อง ตั้ง ‘พิชิต’ แต่ไม่หยุดทำหน้าที่

‘เศรษฐา’ อยู่ ญี่ปุ่น หลัง ศาลรธน. รับคำร้อง ตั้ง ‘พิชิต’ แต่ไม่หยุดทำหน้าที่

“เศรษฐา” หารือ ผู้บริหารบริษัท Mitsui ย้ำโอกาสลงทุนในไทย ศึกษาความเป็นไปได้ร่วมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตบรรจุุภัณฑ์รักษ์โลก ก่อนคุยผู้บริหาร Ajinomoto - Sony เจ้าตัว ยังยิ้มได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง ปม ตั้ง “พิชิต” แต่ไม่สั่งหยุดทำหน้าที่

เมื่อเวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Mitsui & Co., Ltd. 

บริษัท Mitsui & Co., Ltd. เป็นบริษัทการค้า การบริหารธุรกิจและการพัฒนาโครงการระดับโลก ติดอันดับ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจหลักในด้านพลังงาน ทรัพยากรแร่และโลหะ เหล็ก เป็นต้น มีสำนักงาน 125 แห่งใน 61 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย สิงคโปร์ (ROH) มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมา 

ในโอกาสนี้ บริษัทได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาโอกาสการลงทุนของบริษัท ภายหลังพบนายกรัฐมนตรีในงาน Roadshow to Japan เมื่อเดือนธันวาคม 2566 เกี่ยวกับความตั้งใจของบริษัทในสาขาชีวภาพและพลังงานสะอาด ตลอดจนความคืบหน้าของโครงการใหม่ที่จะทำร่วมกับบริษัทไทย รวมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนต่อไปในอนาคต 

โดยนายกฯย้ำว่า พลังงานสะอาดมีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วน ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายละเอียดปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติให้สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก อำนวยความสะดวกให้บริษัทฯ ที่สนใจลงทุนในไทย และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยรัฐบาลจะเร่งทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) โดยเร็วที่สุด และสนับสนุนให้บริษัทเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์การเกษตรในการทำน้ำมันเพื่อการประกอบอาหาร และพลังงานเชื้อเพลิง

นอกเหนือจากนี้ ในการเจรจายังมีการหารือถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ  เช่น การสำรวจและผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมการให้บริการสาธารณสุข และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์  โดยปัจจุบันบริษัทฯ ความร่วมมือกับภาคเอกชนของไทย  และร่วมดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต “บรรจุุภัณฑ์รักษ์โลก” ซึ่งมุ่งหวังว่าจะตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจของบริษัทฯ และส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นหนึ่งใน Soft Power หลักของประเทศไทยอีกด้วย

‘เศรษฐา’ อยู่ ญี่ปุ่น หลัง ศาลรธน. รับคำร้อง ตั้ง ‘พิชิต’ แต่ไม่หยุดทำหน้าที่

จากนั้น เวลา 14.25 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นาย เศรษฐา พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Ajinomoto Co., Inc.

บริษัท Ajinomoto Co., Inc. เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสและอาหาร อาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอื่น ๆ โดยแบ่งกิจกรรมทางธุรกิจเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ธุรกิจอาหาร ที่มีการนำ AminoScience ไปใช้กับเครื่องปรุงรสและอาหาร และอาหารแช่แข็ง 2) ธุรกิจ AminoScience ที่มีการนำ AminoScience ไปใช้กับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอื่น ๆ โดยมีบริษัทในเครือ 135 แห่ง ตั้งอยู่ใน 36 ประเทศทั่วโลก และมีโรงงานผลิต 117 แห่งใน 24 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทมีการดำเนินธุรกิจผงชูรส โรงงานผงปรุงรสอาหารในจังหวัดกำแพงเพชร สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ปทุมธานี และมีสํานักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯ

บริษัทได้หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายกรัฐมนตรี และได้นำเรียนแนวทางการประกอบธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ ยืนยันให้ความสำคัญกับการประกอบธุรกิจลงทุนในไทย ชื่นชมและรู้สึกขอบคุณเกษตรกรมันสัมปะหลังไทยที่เป็นส่วนสำคัญในวัตถุดิบการผลิตของผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท และมั่นใจว่าไทยมีศักยภาพสำหรับบริษัทในการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

นายกรัฐมนตรี ยินดีที่บริษัทมีการดำเนินธุรกิจและจัดตั้งโรงงานในไทยเป็นจำนวนมาก  อีกทั้งยังมีการผลักดันโครงการดีๆ ชื่อ Thai Farmer Better Life Partner Project มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการของบริษัทฯ ทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนผลประกอบในไทยถือว่าสูงที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลก ทั้งนี้ นอกจากการลงทุนในไทยแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญกับการร่วมพัฒนาคุณภาพผลผลิต (มันสำปะหลัง) ของเกษตรกรไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งจะนำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมโครงการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าจะเป็นพื้นฐานสนับสนุนไทยไปสู่การเป็น Agriculture and Food Hub อย่างยั่งยืน

จากนั้น เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา พบหารือกับผู้บริหารบริษัท Sony Group Corporation

บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก มีธุรกิจ 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. เกมและ Network Services 2. เพลง  3. วิดีโอและภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Spiderman 4. ความบันเทิง เทคโนโลยีและบริการ 5. โซลูชั่นด้านภาพและการตรวจจับ  และ 6. บริการทางการเงิน โดยบริษัทมีฐานการผลิตในต่างประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน และ สหราชอาณาจักร ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ผลิตในไทย ได้แก่ กล้อง (ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกทั่วโลก ยกเว้นจีน) และ Backend semiconductors

บริษัทได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รายงานการดำเนินงานในประเทศไทย รวมถึง พูดคุยหารือเกี่ยวกับการเปิดโรงงานที่ 4 ภายใต้บริษัท Sony Device Technology (Thailand) ที่สวนอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะทำการประกอบ Semiconductor Laser สำหรับ Hard Disk Drive ที่ใช้ใน Data Center รวมถึงการประกอบ Image Sensor สำหรับการใช้งานในยานยนต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติแล้ว

บริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และมีแนวโน้มการขยายการลงทุนในอนาคต เนื่องจากบทบาทของ AI Technology ที่ทำให้ความต้องการใช้งาน Data Center เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณที่เลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้า high-tech พร้อมหวังว่า บริษัทจะพิจารณาไทยเป็นลำดับต้น ๆ ในการขยายการลงทุนเพื่อรองรับความต้องการ AI Technology และการเติบโตของ EV อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณารับคำร้อง40สว. กรณีนายเศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่านายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก6เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ เสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง มีคำสั่งรับคำร้องนายเศรษฐาไว้พิจารณา โดยไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ยังมีสีหน้ายิ้มแย้ม ระหว่างพบปะผู้บริหารเอกชนของญี่ปุ่น