ดันส่งออกอาหารสัตว์ VS ปัญหาฝุ่นพิษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ดันส่งออกอาหารสัตว์ VS ปัญหาฝุ่นพิษ | กันต์ เอี่ยมอินทรา

รัฐบาลจะดัน “ไทย” เป็นผู้นำโลกในการผลิต-ส่งออกอาหารสัตว์ แต่เกิดคำถามว่า ไทยจัดการ "ฝุ่นพิษ" จากการผลิตอาหารสัตว์ด้วยพืชไร่อย่าง "ข้าวโพด" ได้ดีแค่ไหน และพร้อมเป็นผู้นำขนาดนั้นจริงหรือ?

เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะดัน “ไทย” เป็นผู้นำของโลกในการผลิต-ส่งออกอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจถึง 3 แสนล้านบาท

คนอ่านข่าวเร็วๆ คงต้องถึงกับตกใจ เพราะไม่แน่ใจว่า “อาหารสัตว์” ที่รัฐบาลหมายถึงนั้น เป็นอาหารสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด ที่ถือเป็นสินค้ามูลค่าต่ำ (commodiy) หรืออาหารสัตว์เลี้ยง อาทิ อาหารเม็ด/กระป๋องของสุนัข แมว ที่เป็นสินค้ามูลค่าสูง (Specialty) แตกต่างจากกลุ่มแรกอย่างสิ้นเชิง

ที่ต้องตกใจเพราะว่า ขณะนี้ ไทยยังมีปัญหาเรื่องของฝุ่นพิษ และงานวิจัยหลายชิ้นก็ชี้ตรงกันว่า หนึ่งในปัจจัยหลักของฝุ่นพิษนี้ก็คือ พืชไร่ ซึ่งอาหารสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพดก็คือหนึ่งในปัจจัยนี้ ไม่เพียงแต่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ที่เกษตรกรนิยมใช้วิธีเผาไร่เพื่อทั้งเก็บเกี่ยวและเตรียมดิน เพราะการเผานี้เป็นวิธีที่ถูกที่สุด และสินค้าเกษตรเหล่านี้ก็แข่งกันที่ราคา ดังนั้นจึงสามารถพูดได้ว่าจะยังคงมีการเผาต่อไปอีกระยะ จนกว่ารัฐจะออกมาจัดการอย่างเข้มงวด

แต่เมื่อมีการเผาไร่เพื่อเตรียมดินในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วไทยจะทำอย่างไรได้บ้าง? ถึงแม้ในทางทฤษฎีแล้วเราจะทำไม่ได้ แต่ทางปฎิบัติมีวิธีเยอะแยะมากมายในการจัดการ และหนึ่งในนั้นก็คือการออกกฎหมายคุมเข้มสินค้าขาเข้า การตั้งข้อกำหนดที่เข้มงวดและภาษีจะทำให้สินค้าที่นำเข้ามาขายในไทยนั้น ไม่ใช่ต้นเหตุของฝุ่นพิษ

ทั้งงานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต่างระบุตรงกันว่า สาเหตุของฝุ่นพิษในไทยนั้นมาจาก 2 แหล่ง คือมลพิษภายในเมืองนั้นๆ อาทิ การจราจร โรงงานอุตสาหกรรม และอีกแหล่งคือมาจากการเผาไร่ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในขอบเขตประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ซึ่งผลผลิตที่เพื่อนบ้านเพาะปลูกก็ไม่เอาไว้กินไว้ใช้เฉพาะในประเทศ แต่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของไทย พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านว่า “ปลูกเพื่อส่งขายให้ไทย” นั่นเอง

ดังนั้น รัฐจึงมีอำนาจในการบริหารจัดการโรงานผู้ซื้อเพื่อแปรรูปสินค้าเหล่านั้น และต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนมากกว่านายทุน

เคยมีรายงานที่ “กรีนพีช” กับ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ทำร่วมกัน ระบุว่า ภายใน 5 ปีระหว่าง 2558-2563 มีพื้นที่ป่าในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนถูกทำลายและแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดแล้วกว่า 10.6 ล้านไร่ และหากแบ่งตามเขตประเทศจะพบว่า 5.1 ล้านไร่อยู่ในลาวตอนบน 2.9 ล้านไร่อยู่ในรัฐฉานของเมียนมา และ 2.5 ล้านไร่อยู่ในภาคเหนือของไทย และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมภาคเหนือของเราถึงประสบกับภัยพิบัติฝุ่นพิษทุกปี โดยไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงเลย

ยังมีรายงานของจุดความร้อนซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว อย่างข้าวโพดในกัมพูชา ที่พบว่า จุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไร่นั้นก็เกิดขึ้นมากในบริเวณที่รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานแก่นายทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งดูแล้ว เหมือนจะเป็นการยากที่รัฐไทยจะเข้าไปแทรกแซง แต่จริงๆ แล้ว เรายังมีเครื่องมืออื่นๆ อีกมาก เพราะไทยและกัมพูชานั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในหลายมิติ

ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใด รัฐบาลที่บอกว่าตั้งใจและกำลังจัดการกับปัญหาเรื่องฝุ่นพิษอย่างจริงจัง แต่ประชาชนกลับไม่เห็นผลลัพธ์เท่าที่ควร ซึ่งการจัดการฝุ่นนี้ หากมองอย่างลึกซึ้งแล้ว มันคือผลงานระดับชิ้นโบแดงหากทำสำเร็จ เพราะทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ คนชั้นกลางได้ประโยชน์ คนจนได้ประโยชน์ คนรวยก็ได้ประโยชน์ เผลอๆ จะได้รับความนิยมมากกว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเสียด้วยซ้ำ