ท่องเที่ยวไทย สะดุดเพราะฝุ่นพิษ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ท่องเที่ยวไทย สะดุดเพราะฝุ่นพิษ? | กันต์ เอี่ยมอินทรา

การตั้งเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มและคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูเหมือนไม่ยากเกินเอื้อม แต่คำถามคือรัฐบาลมีมาตรการอะไรที่จะให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ แล้วต้องแลกกับอะไรบ้าง? รัฐจะมองข้ามปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนหรือไม่

เหตุผลที่นายกฯเศรษฐา ทวีสิน บอกว่า ไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัตินั้นก็เพราะเกรงจะเกิดผลทางลบมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว

ถือเป็นเหตุผลที่ฟังได้ มีเหตุผล แต่ว่าน้ำหนักของเหตุผลถ้าให้ต้องเลือกระหว่างเรื่องของเศรษฐกิจกับเรื่องของสุขภาพประชาชน ก็นานาจิตตัง ขึ้นอยู่กับจะใช้แว่นขยายไหนในการมอง

ไทยเรานั้นเรียกได้ว่า พึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวอย่างมาก การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักของประเทศที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย เราเคยรับนักท่องเที่ยวต่อปีสูงสุดในช่วงก่อนโควิดถึง 40 ล้านคน ทำรายได้ให้กับประเทศกว่า 3 ล้านล้านบาท (ประมาณ 18% ของ GDP) โดยรายได้ 2 ล้านล้านบาทนี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และอีก 1 ล้านล้านบาทนี้มาจากนักท่องเที่ยวคนไทย

ปี 2566 ไทยเพิ่งฟื้นตัวจากโควิดและเริ่มรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่พร้อมกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เรารับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 28 ล้านคน ซึ่งนำเม็ดเงินเข้ามากินมาใช้ในประเทศของเรากว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ส่วนปีนี้ (พ.ศ.2567) หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นั้น ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดแต่เดิมที่ 3 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลบอกไม่พอ ต้องเพิ่ม และให้เป้าหมายใหม่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งแต่เดิม ททท.ตั้งเป้าหมายว่ายอดเดิมที่ 3 ล้านล้านบาทนั้นจะมาจากนักท่องเที่ยวไทย 1.08 และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.92 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น ททท.ยังตั้งเป้าหมายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 35 ล้านคน ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 7 ล้านคน

เมื่อรัฐบาลบอกต้องเพิ่ม ททท.จึงตั้งเป้าหมายใหม่ โดยเม็ดเงินที่จะหาเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทนั้นจะมาจากฝั่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ไม่ใช่จำนวนที่มากขึ้น จะเพิ่มในส่วนของการใช้จ่ายที่มากขึ้น เน้นให้นักท่องเที่ยวอยู่ในไทยนานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น โดยสรุปแล้ว ททท.มุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้จ่ายในไทยกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 1 เท่า

จะเห็นได้ว่าเกือบทุกอย่าง ทั้งตัวเลข ตรรกะวิธีการคิด ดูสมเหตุสมผลหมดเลยทั้งรัฐบาล ทั้ง ททท. เพราะเป้าหมายที่ ททท.ตั้งนั้นไม่ได้สูงเกินจริงในเชิงจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้ ททท.ทำงานหนักขึ้นโดยตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลติดอยู่ที่ 2 คำถามที่รัฐบาลจำเป็นต้องตอบ

1. รัฐบาลจะช่วยเหลือหรือมีมาตรการอย่างไรเพื่อช่วยให้ ททท.หารายได้ส่วนเพิ่มถึง 5 แสนล้านบาทนี้ ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง เพราะประเทศอื่นๆ ก็เล็งเห็นถึงรายได้จากการท่องเที่ยวและมีมาตรการส่งเสริมมากมาย อาทิ กรณีของจีนที่รัฐทำมากกว่าแค่จะยกเว้นวีซ่า แต่ยังอำนวยความสะดวกเรื่องอื่นๆ อาทิ แก้ปัญหาเรื่องการโอนเงิน เป็นต้น ซึ่งผมได้เคยเขียนถึง และมีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่จะเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายนี้ อาทิ มลพิษทางอากาศ

2. ราคาที่เราจะไปถึงรายได้ 3.5 ล้านล้านบาทนี้ จะต้องแลกกับอะไรบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีของเชียงใหม่ ที่ปีที่แล้วมีรายได้จากนักท่องเที่ยว (ไทย+ต่างชาติ) กว่า 1.55 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.86 แสนล้านบาท เม็ดเงินนี้สำคัญมากไปกว่าสุขภาพของประชาชนหรือไม่ และจะป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม อย่างไร?

ต่อให้โปรโมตประเทศมากมาย ขายที่ท่องเที่ยวขายประสบการณ์ที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่สามารถมีคุณภาพอากาศที่ดีได้ ก็ไม่มีใครอยากมาเที่ยว เพราะคำถามแรกๆ เวลาคนเราจะไปเที่ยวที่ไหนคือ “งบเท่าไหร่ และอากาศเป็นไง?”