‘ฝุ่นข้ามพรมแดน’ ปัญหา ไทย-กัมพูชา ? I กันต์ เอี่ยมอินทรา

‘ฝุ่นข้ามพรมแดน’  ปัญหา ไทย-กัมพูชา ? I กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปัญหาฝุ่นพิษในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาคคมนาคมและการเผาไหม้เพื่อเตรียมปลูกพืช แต่ก็มีฝุ่นบางส่วนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องหารือกับเพื่อนบ้าน เมื่อฮุน มาเนต นายกฯกัมพูชามาเยือน

ปัญหาที่กระทบกับสุขภาพและสุขภาพของคนไทยจำนวนมากหลายล้านคน คือ ปัญหาเรื่องฝุ่นพิษ และคนไทยก็หวังว่ารัฐบาลไทยจะมีสติปัญญา ความสามารถและจริงจังพอที่จะแก้ไขปัญหานี้

การมาเยือนไทยของ ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับไทย ทั้งทางเศรษฐกิจ แรงงานและสังคม สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นที่ส่งกระทบอย่างหนักต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ปัญหาฝุ่นพิษโดยเฉพาะในช่วงฤดูเตรียมการเพาะปลูกซึ่งก็คือช่วงนี้ ฝุ่นพิษนั้นมาจากการเผาไหม้ เพื่อกำจัดพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในรอบก่อน การเผานอกจากจะเป็นวิธีที่สามารถกำจัดพืชที่ไม่ออกดอกผลได้อย่างรวดเร็วและประหยัดแล้ว ยังทำให้เกิดปุ๋ยคลุมหน้าดิน ถือเป็นวิธีการเตรียมดินแต่โบราณที่ทำกันมานาน และยังนิยมทำกันอยู่ในปัจจุบัน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุชัดว่า ฝุ่นในบริเวณ กทม. นั้นมีที่มาจาก 1 การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ และ 2 การเผาไหม้ทางการเกษตร ซึ่งอนุภาคของฝุ่นนั้นสามารถลอยสูงและเดินทางได้ไกลมาก การตรวจที่มาของฝุ่นอย่างละเอียดจนถึงระดับอนุภาคนี้ถือว่า เป็นการริเริ่มแก้ไขปัญหาที่ดี เพราะเป็นการเริ่มต้นจากข้อเท็จจริง มิใช่การอนุมาน

ดังนั้น กทม. จึงผุดแคมเปญสนับสนุนให้ดูแลสภาพรถให้ดี การเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง การเปลี่ยนไส้กรอง แต่ถึงอย่างนั้น ปัญหาเหล่านี้เกินความสามารถและอำนาจอันจำกัดของผู้ว่าฯ กทม. เพราะฝุ่นที่มาจากการเผาทั้งในประเทศและมาจากเพื่อนบ้านรายรอบไทยอย่างเมียนมา ลาว และกัมพูชา นั้นก็เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหานี้

การกล่าวหาเพื่อนบ้านอย่างเลื่อนลอยไม่ใช่สิ่งที่ดี และไม่ใช่สิ่งที่ฉลาดนัก แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราค้นพบว่าเกิดการเผาไหม้ทางการเกษตรในไทยและประเทศเพื่อนบ้านจริง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากจุดความร้อน และฝุ่นเหล่านั้นก็มีความสามารถในการเดินทางไกลได้จริง ดังนั้นเรื่องฝุ่นจึงสมควรเป็นปัญหาที่ผู้นำจะต้องคุยกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนในการจัดการฝุ่นข้ามพรมแดนนี้ คือ สิงคโปร์ที่มีกฎหมายกำหนดโทษปรับอย่างรุนแรงถึงตัวการที่มาของฝุ่น ซึ่งกรณีศึกษาที่ชัดเจนคือ การฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดฝุ่น และแน่นอนว่าการบังคับกฎหมายข้ามประเทศนั้นหมิ่นเหม่ในการละเมิดอธิปไตยของอินโดนีเซีย แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าความสามารถในการระบุที่มาของฝุ่นและผู้ที่รับผิดชอบได้นั้น เกิดผลดีมากกว่าเสีย

เพราะเมื่อรู้ต้นตอของปัญหา รัฐบาลสิงคโปร์ก็สามารถใช้ปัญญาในการกดดันอินโดนีเซียให้จัดการกับบริษัทนั้นๆ ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ก็สามารถจัดการและกดดันบริษัทท้องถิ่นที่ทำการค้าร่วมกันกับบริษัทต้นตอควันพิษได้

ปัญหาของฝุ่นที่เรื้อรังมานานในไทย ทำให้ประชาชนมีสุขภาพกายที่ทรุดโทรม สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ และถึงเวลาแล้วที่อุตสาหกรรมบางประเภท อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์และน้ำตาลของไทย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกในไทยและประเทศเพื่อนบ้านรายรอบของเรานั้น สมควรจะต้องถูกจับตาจากรัฐอย่างจริงจัง

หากถึงเวลาที่รัฐจำเป็นจะต้องเลือกระหว่างสุขภาพของคนไทยกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ ประชาชนไทยทุกคนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐจะเลือกได้อย่างมีสติ และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมผู้นำไทยจึงสมควรพูดคุยหาทางแก้ปัญหากับนายกฯ กัมพูชา ในประเด็นของฝุ่นข้ามพรมแดนนี้