‘อรรถพล’ ส่งไม้ต่อ ‘ซีอีโอ’ ใหม่ หวัง ปตท.พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง

‘อรรถพล’ ส่งไม้ต่อ ‘ซีอีโอ’ ใหม่  หวัง ปตท.พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง

"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ส่งไม้ต่อ "ซีอีโอ" คนใหม่ หวังเห็น "ปตท." พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาตลอด พร้อมเปิด 4 แนวคิดการทำงานนำองค์กรประเทศมีเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน

KEY

POINTS

  • อรรถพล เปิดเผยถึงแนวคิดในการทำงานว่า ปตท.เป็นองค์กรพลังงานของประเทศที่เป็นทั้งรัฐเอกชนจึงต้องสร้างสมดุลของ Stakeholders ทั้งการทำธุรกิจ ดูแลชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศ
  • TeamWork เป็นอีกแนวคิดของการทำงานที่สำคัญ เมื่อองค์กรพร้อมด้านบุคลากรที่ดีจะทำให้องค์กรเติบโตและแข็งแกร่งต่อไป
  • อยากเห็นไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป ตลอดระยะเวลา ปตท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ทำให้อุ่นใจได้ว่าไทยจะยังมีความมั่นคง
  • ฝากถึงว่าที่ CEO ปตท.คนใหม่ บริหารนโยบายตามแนวคิด PTT Group Way เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและรับไม้ต่อได้ดี ทำให้กลุ่ม ปตท.เติบโตต่อไปได้ เหมือนกับที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

"อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ส่งไม้ต่อ "ซีอีโอ" คนใหม่ หวังเห็น "ปตท." พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาตลอด พร้อมเปิด 4 แนวคิดการทำงานนำองค์กรประเทศมีเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน

ปัจจุบันพูดได้ว่าไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานมาก เพราะตลอดระยะเวลา ปตท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม อาทิ ด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และต่อยอดธุรกิจใหม่ตามเทรนด์โลกซึ่งทำให้อุ่นใจได้ว่าไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานแห่งชาติที่เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ที่ผ่านมา ปตท.มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่มาแล้ว 10 คน และ "นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 12 พ.ค.2567

สำหรับ นายอรรถพล เข้ารับตำแหน่งเดือน พ.ค.2563 ช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีในหลายธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ในขณะที่ปัจจัย “ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์” ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลก โดยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2565 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงเกินบาร์เรลละ 100 ดอลลาร์ เป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ และสร้างแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

รวมถึงการพัฒนาที่ยังยืน หรือ Environment, Social, และ Governance (ESG) เป็นเมกะเทรนด์ที่ภาคธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาทำให้ ปตท.ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันและรักษาสถานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ

นายอรรถพล เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแนวคิดในการทำงานในฐานะ CEO ปตท. ว่า ปตท.เป็นองค์กรพลังงานของประเทศที่เป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ดังนั้น การบริหารสิ่งสำคัญจะต้องคำนึง คือ 

1.การสร้างสมดุลของ Stakeholders ระหว่างการทำธุรกิจ การดูแลชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง ปตท. ไม่ได้สิทธิประโยชน์พิเศษจากภาครัฐ ดังนั้น การทำธุรกิจส่วนใหญ่จึงต้องแข่งขันตลอดและการแข่งขันต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

2.Change Management โดยต้องพร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง อาทิ การวางแผน การวางระบบงาน การปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงจะกระทบพนักงานและองค์กร จึงต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้เพราะความไม่แน่นอนมีตลอดเวลา

3.Positive Thinking ต้องมีพร้อมรับทุกสถานการณ์เพื่อบริหารจัดการได้ทุกสถานการณ์ หากมีเพียง Negative Thinking เชื่อว่าการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ก็จะไม่ดีและอาจติดขัดได้

4.TeamWork เป็นอีกแนวคิดของการทำงานที่สำคัญ เมื่อองค์กรพร้อมด้านบุคลากรที่ดีจะทำให้องค์กรเติบโตและแข็งแกร่งต่อไป

สำหรับหรับความคาดหวังต่อทิศทางพลังงานอนาคต ต้องการเห็นไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานต่อไป ซึ่งปัจจุบันพูดได้ว่าไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานมาก เพราะตลอดระยะเวลา ปตท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม อาทิ ด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และต่อยอดธุรกิจใหม่ตามเทรนด์โลก ซึ่งทำให้อุ่นใจได้ว่าไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน

“ปัจจุบัน ปตท.ลงมาทำธุรกิจพลังงานในระดับสากล ทำให้ไทยเข้าถึงแหล่งพลังงานทั่วโลกทั้งน้ำมัน เทอร์มินอล เครือข่ายท่อ แอลเอ็นจี หรือแม้แต่โลจิสติกส์ถือว่าครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังคาดหวังว่า อนาคตอยากให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานแบบนี้ตลอดไป เพราะไม่ว่ารูปแบบของการใช้พลังงานโลกและของประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างไร จะต้องมีหน่วยงานที่คอยมอนิเตอร์ และพร้อมที่จะลงทุน เพื่อให้ธุรกิจพลังงานก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ หากจะให้ฝากถึง "นายคงกระพัน อินทรแจ้ง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 ในเดือน พ.ค.2567 ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมา ปตท.มีการเปลี่ยนผู้นำองค์กรตลอดในรูปแบบของกลุ่ม ปตท.อยู่แล้ว

"CEO ใหม่ถือเป็นครอบครัวเดียวกันในกลุ่ม ปตท.จุดนี้ถือเป็นอีกจุดที่สบายใจว่าน่าจะรู้บทบาทและภารกิจใน ปตท.ดีอยู่แล้ว"

ดังนั้น การบริหารนโยบายตามแนวคิด PTT Group Way เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จและรับไม้ต่อได้ดี ทำให้กลุ่ม ปตท.เติบโตต่อไปได้ เหมือนกับที่มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาตลอด

นายอรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้ดำเนินการตามแผนการลงทุนปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและเป็นแผนที่กำหนดไว้เดิม โดยตั้งงบลงทุนช่วง 5 ปี (2567-2571) วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท เป็นการลงทุนของ ปตท.และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% โดยเฉพาะปีนี้ตั้งเป้างบการลงทุน 20,000-30,000 ล้านบาท และตลอด 5 ปีของงบลงทุนเชื่อว่าจะเป็นไปตามแผน โดยแยกเป็นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ ดังนี้ 

1.ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 30,636 ล้านบาท คิดเป็น 34% 2.ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 14,934 ล้านบาท คิดเป็น 17% 3.ธุรกิจธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 12,789 ล้านบาท คิดเป็น 14% 4.ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,022 ล้านบาท คิดเป็น 4% และ 5.ลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% จำนวน 27,822 ล้านบาท คิดเป็น 31%

นอกจากนี้ ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าวรองรับการลงทุนธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51% โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนสอดคล้องวิสัยทัศน์ของ ปตท.จะเน้นลงทุนธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% อาทิ การลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus 

โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

นอกจากนี้ลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต ระยะ 5 ปี ข้างหน้า 106,932 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน อาทิ ขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน โดยมุ่งขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมทั้งขยายการลงทุนธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ และมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science)

รวมถึงธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ

ผ่าแผนลงทุน ปตท.ไตรมาส 1

อย่างไรก็ตามช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ปตท.ลงทุนไปแล้ว อาทิ โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเหลือก่อสร้างเพียง 2-3 กิโลเมตร, โครงการ CFP โรงกลั่นของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายกำลังการกลั่นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย มั่นใจว่าปีนี้จะลงทุนตามเป้าหมายแน่นอน

“ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ กลุ่ม ปตท.ดำเนินการตามเป้าหมายงบที่ลงทุนไว้ในแผน ถือเป็นแผนลงทุนที่เป็นปกติ และเป็นโครงการขนาดใหญ่เยอะ จึงเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน เพราะเงินที่จ่ายไปเป็นไปตามแผนงาน” นายอรรถพล กล่าว

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยปี 2567 พบว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน โดยปัจจัยที่น่าจับตามองของโลกมี 5 ด้าน ได้แก่ 

1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุม 3.การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก 4.อุปทานจากกลุ่มนอน-โอเปก และ 5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

“ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยดีมานด์ถูกกดดันจากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง เพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และในด้านซัพพลายจากกลุ่ม นอนออยล์ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ, บราซิล, อิหร่าน และเวเนซูเอลา” นายอรรถพล กล่าว

นอกจากนี้ ปตท.ดำเนินธุรกิจโดยไม่เอาเปรียบผู้บริโภค สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือ ผลการดำเนินงาน ปตท.และบริษัทย่อยปี 2566 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 3.6% ของยอดขาย อย่างไรก็ตามกำไรดังกล่าวยังสูงกว่าปี 2565 เป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท.ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน