5 บิ๊กคอร์ป 'พลังงาน' ปรับทัพ 'ซีอีโอ' ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่

5 บิ๊กคอร์ป 'พลังงาน' ปรับทัพ 'ซีอีโอ' ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่

5 บิ๊กคอร์ป “พลังงาน” ปรับทัพใหม่ รับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี-ภูมิรัฐศาสตร์ มีผลต่อราคา และเศรษฐกิจโลก “บ้านปู” ส่ง “สินนท์” ทายาทรุ่นลูกลุยธุรกิจ "คงกระพัน" พร้อมเคลื่อน ปตท.องค์กร 3 ล้านล้าน "GC-เอ็กโก-ราชกรุ๊ป" ถึงคิวหาผู้นำองค์กรคนใหม่ รับความท้าทายเศรษฐกิจโลก

KEY

POINTS

  • "กลุ่มปตท." คาดราคาพลังงานในปี 2567 ราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
  • ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 
  • จับตา CEO "จีซี" คนใหม่ ภายหลังบอร์ดปตท. แต่งตั้ง "คงกระพัน อินทรแจ้ง" คุมบริหาร ปตท. คนที่ 11 มีผล วันที่ 13 พ.ค. 2567
  • "บ้านปู" ตั้ง "สินนท์ ว่องกุศลกิจ" ทายาท "ชนินท์ ว่องกุศลกิจ" ผู้ก่อตั้ง BANPU ขึ้นแท่น CEO แทน "สมฤดี ชัยมงคล" มีผลในวันที่ 2 เม.ย. 2567
  • จับตา “กฟผ.” ดันรองผู้ว่าฯ นั่งบริหาร “เอ็กโก กรุ๊ป-ราช กรุ๊ป” หลังครม. เคาะ “เทพรัตน์” ขึ้นผู้ว่าการ

5 บิ๊กคอร์ป “พลังงาน” ปรับทัพใหม่ รับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี-ภูมิรัฐศาสตร์ มีผลต่อราคา และเศรษฐกิจโลก “บ้านปู” ส่ง “สินนท์” ทายาทรุ่นลูกลุยธุรกิจ "คงกระพัน" พร้อมเคลื่อน ปตท.องค์กร 3 ล้านล้าน "GC-เอ็กโก-ราชกรุ๊ป" ถึงคิวหาผู้นำองค์กรคนใหม่ รับความท้าทายเศรษฐกิจโลก

ด้วยเทรนด์การทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่กำลังโดนดิสรัปชันจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การดำเนินธุรกิจจึงต้อง การทรานฟอร์มรับเทรนด์โลก นอกจากนี้ ปัจจัยที่ต้องจับตาต่อผลกระทบในการดำเนินธุรกิจพลังงานที่มีผลต่อราคาและต้นทุนของทุกกลุ่มธุรกิจที่ต้องจับตา โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความเข้มข้นโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ

ในปี 2567 ธุรกิจพลังงานมีความเคลื่อนไหวเพื่อรองรับการจะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้จะต้องจับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเปลี่ยน CEO ทั้งจากการครบวาระการทำงาน หรือแม้แต่ปรับโครงสร้างองค์กรภายในเพื่อให้ทันกับเมกะเทรนด์โลก ซึ่งมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานในปี 2567 ดังนี้

1. ราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแผนธุรกิจ โดยกลุ่ม ปตท.ประเมินปี 2567 ทิศทางราคาพลังงานจะลดลงจากปี 2566 โดยยังอยู่ระดับสูงในกรอบ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปริมาณการใช้ของโลกจะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 101-102 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อตลาดพลังงานโลก ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อาจขัดแย้งรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย พยายามยุติปัญหายูเครนให้ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย.2567 ขณะที่การเลือกตั้งผู้นำหลายประเทศในปีนี้จะมีผลต่อนโยบายการต่างประเทศของหลายชาติ

3.การเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยีพลังงานและปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลต่อความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ทิศทางความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลง เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ในขณะที่เทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอนมีการลงทุนในธุรกิจพลังงานมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโลโลยีพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน

“สินนท์” CEO บ้านปูคนใหม่

ในปี 2567 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทพลังงานอย่างน้อย 5 แห่ง ที่มีการเปลี่ยนผู้นำองค์กรในระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) เริ่มที่บริษัท บ้านปูจํากัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการบ้านปูมีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 แต่งตั้งนายสินนท์ ว่องกุศลกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนนางสมฤดี ชัยมงคล มีผลวันที่ 2 เม.ย.2567 หลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี 2567 

5 บิ๊กคอร์ป \'พลังงาน\' ปรับทัพ \'ซีอีโอ\' ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่

สำหรับนายสินนท์เป็นทายาทของ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบ้านปู และเป็นบุตรคนกลางในบรรดาพี่น้อง 3 คน โดยที่ผ่านมานายสินนท์ ทำหน้าที่บริหารธุรกิจบริษัทลูกของบ้านปู โดยรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) เมื่อเดือน มิ.ย.2565 ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงของกลุ่มบ้านปูในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานที่ยั่งยืน

"กลุ่มบ้านปูมีกลยุทธ์ Greener & Smarter ที่จะยกระดับโซลูชันพลังงานฉลาดเพื่อความยั่งยืนแบบครบวงจร และรองรับเมกะเทรนด์ Net-Zero และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลดคาร์บอน" นายสินนท์ กล่าวเมื่อเดือน ก.พ.2566

กลุ่มบ้านปูเป็นธุรกิจของครอบครัวว่องกุศลกิจและครอบครัวเอื้ออภิญญกุล ร่วมก่อตั้ง บริษัท เหมืองบ้านปู จำกัด เมื่อปี 2526 เพื่อทำสัญญาเช่าช่วงการทำเหมืองถ่านหินที่เหมืองบ้านปู (BP-1) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก่อนที่จะขยายธุรกิจเหมืองถ่านหินไปต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และต่อมาได้เพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานหมุเวียนในพอร์ตของบ้านปู

นายสินนท์ ถือเป็นเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีแนวคิดแบบ Growth Mindset ที่มุ่งไปข้างหน้า มองเป้าหมายระยะยาว รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญของผู้นำธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยนายสินนท์ สำเร็จการศึกษาด้านการจัดการธุรกิจ การตลาด และการเงินระหว่างประเทศ จากประเทศอังกฤษ

“คงกระพัน” CEO ปตท.คนที่ 11

ถัดมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่จะเปลี่ยน CEO ในวันที่ 13 พ.ค.2567 หลังจากคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เห็นชอบให้นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 แทนนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่ครบวาระ 4 ปี

สำหรับ ปตท.เป็นพลังงานขนาดใหญ่ที่มีรายได้มากกว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท โดย CEO คนใหม่จะเข้ามาบริหารองค์กรพลังงานที่มีสินทรัพย์รวม 3.53 ล้านล้านบาท และบริหารแผนลงทุนโครงการในอนาคต 5 ปี ข้างหน้าที่ 106,932 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน

5 บิ๊กคอร์ป \'พลังงาน\' ปรับทัพ \'ซีอีโอ\' ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่

ทั้งนี้ ปตท.ถือเป็นโฮลดิ้ง ที่ดำเนินการ โอเปอร์เรติ้ง คอมพานี คือ เป็นบริษัทที่มีโอเปอร์เรชั่นในตัวเอง และมีธุรกิจในตัวเอง โดยแบ่งตามโครงสร้าง คือ ธุรกิจขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย โดยช่วงที่ผ่านมา ปตท.ขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ครอบคลุมทั้งกลุ่มไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

"ปีที่ผ่านมามีหลายปัจจัยเป็นผลไม่บวกมากนักต่อเศรษฐกิจโลกทั้งเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ขยับตัวได้ตามเป้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังมีเหมือนเดิม ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็ยังมีผลต่อธุรกิจ" นายคงกระพัน กล่าวเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2567 หลังจากมีมติให้เป็น CEO ปตท.คนใหม่

GC เตรียมเปลี่ยน CEO คนใหม่

หลังจากที่นายคงกระพัน ขยับจาก CEO ของ GC ขึ้นมาเป็น CEO ของ ปตท.ทำให้ต้องจับตาผู้ที่จะมาแทนนายคงกระพัน เพื่อเข้ามาสานต่อธุรกิจโดยเฉพาะปิโตรเคมีที่สถานการณ์ภาพรวมยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง จากการรับความกดดันจากปัจจัยทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ปลายทางของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ในปี 2567 GC กำหนดทิศทางและทบทวนกลยุทธ์ 3 Steps Plus แบ่งเป็น 1. Step Change สร้างรากฐานแข็งแกร่ง ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ ควบคุมค่าใช้จ่าย และเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์มูลค่าสูง มีเป้าหมาย 56% ในปี 2571

2.Step Out แสวงหาโอกาสใหม่เพื่อสร้างการเติบโต และดูแลด้านต้นทุนของ allnex พร้อมขยายตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเเละผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน รวมถึง Bio-Refinery เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง อาทิ ยา อาหาร เคมีชีวภาพ

3.Step Up สร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยดำเนินงานด้าน Decarbonization ให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 รวมถึงมุ่งมั่นรักษาความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้างบลงทุนปี 2567 ที่ 262 ดอลลาร์ (ราว 9,170 ล้านบาท)

“จิราพร” มาแรงนั่งคุม "เอ็กโก กรุ๊ป"

ด้านบริษัทผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้นใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากนายเทพรัตน์ เทพิพทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ.ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.ตามมติคณะกรรมการ กฟผ.เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2567 

ทั้งนี้ หาก ครม.เห็นชอบให้นายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.จะส่งผลให้พ้นจากตำแหน่ง CEO ของ เอ็กโก กรุ๊ป ทันที โดยมีการคาดการณ์ว่านางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ.เป็นแคนดิเดทจะเข้ามารับตำแหน่ง CEO ของ เอ็กโก กรุ๊ป เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจโรงไฟฟ้าและโครงการใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวันและสหรัฐ

5 บิ๊กคอร์ป \'พลังงาน\' ปรับทัพ \'ซีอีโอ\' ฝ่าวิกฤติภูมิรัฐศาสตร์-เทคโนโลยีใหม่

สำหรับแผนการลงทุนปี 2567 ของเอ็กโก กรุ๊ป 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการทำดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม จากกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง)

ทั้งนี้ แบ่งกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ (คิดเป็นสัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่

จับตา 4 ตัวเต็ง CEO “ราชกรุ๊ป”

ด้านบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ขณะนี้ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครบอายุ 60 ปีไปช่วงปลายปี 2566 แต่ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ จึงต้องจับตามองรองผู้ว่าการ กฟผ.ที่เหลืออีก 4 คน ที่จะขึ้นมาเป็น CEO ของราช กรุ๊ป 

ประกอบด้วย 1.นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 2.นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง 3.นางพัชรินทร์ รพีพรพงศ์ รองผู้ว่าการการเงินและบัญชี (CFO)​ และ 4.นายจรัญ คำเงิน รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ราชกรุ๊ป ได้วางงบประมาณในการลงทุนในปี 2567 ที่ 15,000 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในแต่ละปีโดยสัดส่วน 50% จะเป็นการลงทุนในโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา 8,000 ล้านบาท ส่วนอีก 7,000-8,000 ล้านบาท ที่จะเพิ่มขึ้นก็จะเป็นการลงทุนในโครงการใหม่