'พิมพ์ภัทรา' สั่งขุดต้นตออนุมัติ รง.4 ล่าช้า ขัดขวางการลงทุนตั้งโรงงาน

'พิมพ์ภัทรา' สั่งขุดต้นตออนุมัติ รง.4 ล่าช้า ขัดขวางการลงทุนตั้งโรงงาน

“พิมพ์ภัทรา” ตอกกลางที่ประชุมผู้บริหารก.อุตฯ หลังเอกชนฟ้องคุยแล้วไม่จบ สั่งขุดต้นตอแก้ปัญหาร.ง.4 ตัวถ่วงลงทุน ดึงกรอ.–อุตฯจังหวัดเคลียร์ เจอตอใหญ่คำสั่งผู้บริหารกรมโรงงาน ต้องส่งเรื่องเห็นชอบก่อนถึงอนุญาตได้ คาดยิ่งทำล่าช้า "เศรษฐา" ระบุกลางเดือนหน้าเคลียร์หมด

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่ภาคเอกชนร้องเรียนว่า มีความล่าช้าอย่างมาก เป็นตัวถ่วงการลงทุนว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ทั้งปลัดกระทรวง รองปลัด ผู้ตรวจราชการ และอธิบดีทุกกรม

สำหรับบรรยากาศภายในที่ประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากการแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตขณะนี้ เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เช่น โยนเรื่องที่ค้างจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กลับไปที่อุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งอุตฯจังหวัดบางจังหวัดก็ระบุว่า ก่อนหน้านี้ยื่นเรื่องเข้าไปกว่า 6-7 เดือน แต่กลับโยนเรื่องกลับมาแล้วสั่งให้ตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้องภายใน 15 วัน  

โดยทางน.ส.พิมพ์ภัทรา จึงได้สั่งการให้กรอ. และอุตฯ จังหวัด กลับไปทำข้อมูลให้ชัดเจนทั้งหมดว่า แต่ละรายยังติดปัญหาอะไร ติดที่ใคร อย่างไร และต่อไปจะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นตออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน 

“เรื่องนี้รมต.อุตฯ บอกในที่ประชุมว่า ตอนนี้ยังได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง จนภาคเอกชนนำเรื่องนี้เข้าหารือกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหา เพราะนายกฯ เดินสายพบนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดึงเข้ามาลงทุนในไทย แต่จะไม่มีผลเลย ถ้ามาติดปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต ร.ง.4 จึงเป็นเหตุผลที่นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วง

ทั้งนี้ นายกฯ ได้เรียกรมว.อุตสาหกรรมเข้าไปพบ เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง และขอให้ติดตามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่ให้เสียบรรยากาศของการลงทุน และรมว.อุตสาหกรรม ได้พูดกลางที่ประชุมตรง ๆ เลยว่า นักลงทุน มาพูดกับตนว่า ปัญหาการยื่นขอรับใบอนุญาตร.ง.4 เวลานี้ คือ คุยแล้วไม่จบ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้มากๆ ต้องเร่งแก้ให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นที่คาดว่า ทำให้การอนุมัติใบร.ง.4 ล่าช้า คือ เมื่อปลายปี 65 ได้มีคำสั่งจากผู้บริหารระดับสูงในกรมฯ รายหนึ่ง ออกคำสั่งแนวทางการดำเนินงานในการขอใบอนุญาต ให้กองที่รับผิดชอบดำเนินงานเสนอการขอใบอนุญาต ต้องเสนอเรื่องให้ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งเห็นชอบ ก่อนที่จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มองว่า เป็นกระบวนการซ้ำซ้อน เสียเวลา ต้องรอให้คนคนเดียวตรวจสอบ เหมือนสมัยก่อนที่มีคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานฯ ทำให้ล่าช้า ถูกร้องเรียนเชิงลบอย่างหนัก จนต้องยุบออกไป 

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาการออกใบอนุญาต ร.ง. 4 ล่าสุด ยังพบปัญหาช่องว่างระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) กรณีที่ สอจ.ต้องตรวจสอบคำขออนุญาตพร้อมข้อมูลที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ระบุไว้  เพื่อส่งให้ กรอ.พิจารณาอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่ กรอ.อาจขอข้อมูลหรือคำชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้ยื่นคำขออนุญาตอีกส่วนมากจะขึ้นกับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มองว่า ตรงจุดนี้ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสน และเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการได้ ต่อไปต้องทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ควรใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่

ซึ่งตนได้ให้ทุกฝ่ายกลับไปเช็คขั้นตอนรายละเอียดทั้งหมด และอะไรที่ยังเป็นปัญหา เพื่อให้ขั้นตอนทุกอย่างเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ขั้นตอนอนุมัติเร็วขึ้น โดยให้เสนอกลับมาในที่ประชุมวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อให้การแก้ปัญหาถึงต้นตอ ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากอีก   

“ได้ย้ำกับผู้บริหารกระทรวงตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาให้ทำการปรับลดขั้นตอนการอนุญาตให้รวดเร็ว เน้นการบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีได้ชักชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องรับไม้ต่อในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตต่างๆ ได้สั่งการให้เร่งเคลียร์คำขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบให้หมดภายใน 30 วัน"  

พร้อมให้ผู้ตรวจราชการทุกท่าน ตรวจสอบคำขออนุญาตในทุกจังหวัดว่ายังหลงเหลืออยู่จำนวนเท่าใด ติดขัดในขั้นตอนไหน ให้รีบแก้ไขเพื่อให้สามารถออกใบอนุญาตโรงงานได้โดยเร็ว เรื่องนี้ตนไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการทุกคน แต่ก่อนตนเคยมาขอใบอนุญาตที่กรอ. เคยประสบปัญหาความล่าช้ามาก่อน เข้าใจความรู้สึกดี และต้องไม่ให้เกิดเกิดในยุคของตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เศรษฐา ทวีสิน - Srettha Thavisin" ว่า ได้ติดตามเรื่องใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ที่ค้างอยู่ในระบบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับรายงานว่า ขณะนี้จำนวนใบขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบได้ลดลงไปมากแล้ว และไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะเคลียร์ส่วนที่ค้างได้หมด

นอกจากนี้ ทางกระทรวงฯ ได้ปรับขั้นตอนในการขออนุญาตให้สั้น และรวดเร็วขึ้น ถ้าตั้งโรงงานได้เร็วขึ้นหนึ่งวัน โอกาสการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเร็วอีกหนึ่งวันเช่นกันครับ