‘เงินดิจิทัล’เดิมพัน ‘เศรษฐกิจ’ รัฐบาลดันงบฯ68 ขาดดุล 8.6 แสนล้าน แลกGDP โต 3%

‘เงินดิจิทัล’เดิมพัน ‘เศรษฐกิจ’ รัฐบาลดันงบฯ68 ขาดดุล 8.6 แสนล้าน แลกGDP โต 3%

“รัฐบาล” เดิมพันดิจิทัลวอลเล็ต รัฐขยับกรอบงบฯ 68 ขาดดุลพุ่งแตะ 8.6 แสนล้าน หลัง ครม.เคาะขาดดุลเพิ่มอีก 1.527 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 67% เปิดแผนการคลังระยะปานกลาง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 67% ต่อจีดีพี รัฐบาลตั้งเป้าจีดีพีโตไม่ต่ำกว่า 3% ต่อเนื่อง

KEY

POINTS

  • “รัฐบาล” เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยขยับกรอบงบฯ 68 ขาดดุลพุ่งแตะ 8.6 แสนล้าน หลัง ครม.อนุมัติขาดดุลงบฯปี 68 เพิ่มอีก 1.527 แสนล้าน หนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 67% จากเพดาน 70%ของจีดีพี
  • การปรับแผนการเงินการคลังระยะปานกลางของประเทศเกิดขึ้นหลังเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพโดยในปี 2567 เศรษฐกิจโตได้ 2.7% 
  • แผนการคลังระยะปานกลางหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 67% ต่อจีดีพีต่อเนื่องไปตั้งแต่ปี 69-71
  • โฆษกรัฐบาลย้ำเป้ารัฐบาลทำจีดีพีโตไม่ต่ำกว่า 3% และหวังว่าเศรษฐกิจจะดีต่อเนื่องระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีลด

“รัฐบาล” เดิมพันดิจิทัลวอลเล็ต รัฐขยับกรอบงบฯ 68 ขาดดุลพุ่งแตะ 8.6 แสนล้าน หลัง ครม.เคาะขาดดุลเพิ่มอีก 1.527 แสนล้าน ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีแตะ 67% เปิดแผนการคลังระยะปานกลาง หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 67% ต่อจีดีพี รัฐบาลตั้งเป้าจีดีพีโตไม่ต่ำกว่า 3% ต่อเนื่อง

รัฐบาลมีความพยายามในการจัดหาแหล่งงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป 50 ล้านคน รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้รับการท้วงติงถึงการออก พ.ร.บ.กู้เงิน และขณะนี้มีการหาแนวทางเพื่อใช้แหล่งเงินจากการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567-2568

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังการประชุม ครม.ว่า งบประมาณสำหรับการใช้ดำเนินโครงการเงินดิจิทัลจะได้ข้อสรุปในวันที่ 10 เม.ย.2567 และจะชี้แจงหนเดียวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ครม.เห็นชอบให้มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท จากเดิมที่มีการขาดดุลงบประมาณ 713,000 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 865,700 ล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

‘เงินดิจิทัล’เดิมพัน ‘เศรษฐกิจ’ รัฐบาลดันงบฯ68 ขาดดุล 8.6 แสนล้าน แลกGDP โต 3%

ทั้งนี้งบประมาณปี 2568 ปรับเพิ่มเป็น 3.7257 ล้านล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 3.6 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับกรอบงบประมาณตามแผนการคลังระยะปานกลาง ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังด้วย

สำหรับในขั้นตอนต่อไปนายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกำหนดกรอบงบประมาณปี 2568 

รวมทั้งจะหารือข้อมูลเศรษฐกิจร่วมกันก่อนนำเอาผลการประชุมของทั้ง 4 หน่วยงาน เสนอ ครม.วันที่ 9 เม.ย.2567 พร้อมกับการเห็นชอบกรอบงบประมาณปี 2568 ที่เป็นกรอบเดิม แล้วจากนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนกรอบงบประมาณ 2568 ตามแผนการคลังระยะปานกลางที่ ครม.เห็นชอบ

ส่วนประเด็นการหาแหล่งเงินดิจิทัลวอลเล็ตขณะนี้สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างหารือกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นประธานเพื่อให้ได้ข้อสรุปทันในวันที่ 10 เม.ย.2567

ขณะที่ประเด็นการนำงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่นั้น ต้องมีการหารือกันให้ได้ความชัดเจนอีกครั้ง

ปรับกรอบงบหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามประเด็นการขยายกรอบงบประมาณขาดดุลจะมีนัยสำคัญอย่างไร ว่า “เดาไม่ได้จริงๆ หรือ” และสอบถามประเด็นจะขยายกรอบงบประมาณขาดดุลเพื่อดำเนินโครงการใด นายจุลพันธ์ ตอบว่า “ไม่รู้จริงๆ หรือ”

ส่วนประเด็นจะขยายกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 หรือไม่ นายจุลพันธ์ ตอบว่า ไม่สามารถขยายได้แล้วเนื่องจากเต็มเพดานแล้ว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับกรอบการคลังระยะปานกลาง เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพ ซึ่งสะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2567 ขยายตัว 2.7% และไตรมาส 4 ปี 2566 หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 

ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัญหาทั้งภายนอกและภายในประเทศ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจช่วงต้นปี 2567 ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นกระทบกับการบริโภค

หวังดุลการคลังดีขึ้นในปี 2571

ดังนั้นรัฐบาลมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ และเพื่อให้มีแผนการคลังระยะปานกลางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และ ครม.จึงเห็นชอบให้มีการปรับกรอบการคลังระยะปานกลางใหม่โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.ปี 2568 กรอบงบประมาณรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 865,700 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 66.93%

2.ปีงบประมาณ 2569 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 703,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.53%

3.ปีงบประมาณ 2570 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.57%

4.ปีงบประมาณ 2571 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 683,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 67.05%

ทั้งนี้ในส่วนของดุลการคลังต่อจีดีพีที่สูงถึงระดับ 4.42% ในปี 2568 จะทยอยลดลงมาในระดับ 3% ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดภายในปี 2571

ส่วนประเด็นพื้นที่ทางการคลังที่เหลือไม่ถึง 3% ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่ให้หนี้สาธารณะสูงกว่า 70% ของจีดีพี ได้รับการชี้แจงจากโฆษกรัฐบาล ว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้หนี้ต่อจีดีพีจะค่อยๆลดลง

“ยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลที่คุยกับทีมเศรษฐกิจต้องให้จีดีพีเติบโต ซึ่งหลังจากที่ขาดดุลในปี 2568 เพิ่มสูงตัวเลขในปีต่อไปก็จะลดลง เช่นเดียวกับเมื่อเศรษฐกิจเติบโตหนี้สาธารณะต่อจีดีพีบางปีจะไม่เพิ่มขึ้นหรือจะลดลง แต่ตอนนี้ต้องทำให้จีดีพีโตไม่ต่ำกว่าปีละ 3%”

ครม.เห็นชอบแผนเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงขอให้สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลัง เร่งส่งงบประมาณไปยังหน่วยงานต่างๆอย่างรวดเร็ว เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของงบลงทุนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้ก่อหนี้ผูกพันได้ทันที เมื่อพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ประกาศใช้ ดังนี้ 

1.งบประมาณรายจ่ายที่ต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้หน่วยรับงบประมาณเร่งส่งเงินจัดสรรไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร

2.รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้หน่วยรับงบประมาณจัดส่งรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง ราคากลาง และรายละเอียดประกอบที่เกี่ยวข้องให้ สงป.พิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปกับการดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง 

รวมทั้งเมื่อได้ผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว หากไม่เกินวงเงินที่ สงป.ให้ความเห็นชอบ ให้แจ้ง สงป.ทราบและดำเนินการทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันต่อไปได้ 

3.ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ทันการเบิกจ่ายภายในเดือน ก.ย.2567 โดยเฉพาะรายการปีเดียวสำหรับรายการผูกพันใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.2567 หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันให้แจ้ง สงป.เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเป็นรายกรณีในโอกาสแรกเพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ