'4ทางรอด' อุ้มราคาน้ำมัน ผวากองทุนติดลบเฉียดแสนล้าน-สู้ราคาดีเซลโลกพุ่ง

'4ทางรอด' อุ้มราคาน้ำมัน ผวากองทุนติดลบเฉียดแสนล้าน-สู้ราคาดีเซลโลกพุ่ง

“พลังงาน” เผย 4 ทางรอดกองทุนน้ำมันที่ติดลบเฉียดแสนล้าน หวัง “คลัง” ต่ออายุลดภาษีดีเซลที่จะสิ้นสุด 19 เม.ย.นี้ ชี้หากไม่ต่อแบกเพิ่มจากเดือนละ 8,000 ล้าน เสนอเพิ่มเพดานดีเซลเกิน 30 บาท ทางสุดท้ายของบกลางอุดหนุน “กฤษฎา” ชี้จัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกปีงบประมาณต่ำกว่าเป้า

ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ผันผวน โดยราคาดีเซลในตลาดโลกยังคงตัวอยู่ระดับสูง 104.03 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (เฉลี่ยวันที่ 1-20  มี.ค.2567) ส่งผลให้การอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนลิตรละ 4.17 บาท ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเดือนละ 8,700 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 24 มี.ค.2567 ติดลบ 98,220 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 51,136 ล้านบาท ส่วนก๊าซ LPG ติดลบ 47,084 ล้านบาท

รวมทั้งดีเซลยังได้รับการอุดหนุนผ่านการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1 บาท รวม 3 เดือน จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 19 เม.ย.2567

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การตรึงราคาดีเซลลิตรละ 30 บาท ตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบใกล้ 100,000 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันฯ มีภาระหนี้มากเกินไป รวมทั้งรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของกองทุนน้ำมันฯ ทำให้กระทรวงพลังงานจะหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนพร้อมกับการลดภาระกองทุนน้ำมันฯ

สำหรับทางรอดของกองทุนฯ ในปัจจุบันมี 4 แนวทาง ประกอบด้วย 

1.ขออนุมัติต่อมาตรการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1-2 บาทต่อลิตร รวม 3 เดือน  โดยกรณีลดลิตรละ 1 บาท ทำให้รัฐเสียรายได้ 6,000 ล้านบาท 

2.ขออนุมัติงบประมาณกลางเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ในการอุดหนุนราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม

3.ลดการชดเชยราคาดีเซล เพื่อเพิ่มเพดานราคาให้สูงเกินลิตรละ 30 บาท โดยทยอยปรับขึ้นตามกลไกตลาดเป็นลิตรละ 31-32 บาท

4.ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม จากเดิมที่กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติวงเงินไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ภายใน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค.2566 ซึ่งปัจจุบันกู้ไป 105,333 ล้านบาท เพื่อชำระให้คู่ค้าน้ำมันมาตรา 7 และต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท

\'4ทางรอด\' อุ้มราคาน้ำมัน ผวากองทุนติดลบเฉียดแสนล้าน-สู้ราคาดีเซลโลกพุ่ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เป็นหนี้ธนาคารรัฐ 3 แห่ง และเบิกเงินเข้าบัญชีครบแล้วตามกรอบวงเงินอนุมัติกู้ ดังนั้น หากกองทุนน้ำมันฯ จะกู้เงินอีกจะต้องกลับไปใช้มาตรา 26 ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

“คลัง”พร้อมเจรจาต่อลดภาษีดีเซล

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการลดจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลจะสิ้นสุดวันที่ 19 เม.ย.2567 ถ้ากระทรวงพลังงานเสนอให้ต่ออายุมาตรการเชื่อว่ารัฐบาลพร้อมตอบรับ แม้จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท แต่จะช่วยเหลือประชาชนและไม่กังวลผลต่อการจัดเก็บรายได้ที่ชะลอตัวลง เพราะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงพลังงานให้ต่อเวลาลดภาษีดีเซลออกไปก่อนนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังคำนึงถึงการจัดเก็บรายได้ ซึ่งปัจจุบันการลดภาษีดีเซลลิตรละ 1 บาท ไม่ได้มากแต่กระทรวงการคลังต้องการให้กองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยดูแล

ส่วนที่กระทรวงพลังงานจะของบประมาณกลางมาดูแลราคาน้ำมันดีเซล ในส่วนนี้เรื่องนี้ต้องดูก่อนว่าจะใช้ได้หรือไม่แล้วจึงสรุปว่าจะแหล่งเงินจากที่ไหนอย่างไร

เผยลดภาษีฉุดจัดเก็บรายได้รัฐ

นายพรชัยธีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 - ก.พ.2567) ต่ำกว่าประมาณการเพราะลดภาษีดีเซลและเบนซิน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการ

ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าวรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 25,144 ล้านบาท หรือ 2.5% และต่ำกว่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4%

ขณะที่ฐานะการคลังในช่วงดังกล่าว รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 979,981 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.1% ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ 1,365,674 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.8% โดยรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 55,750 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.พ.2567 มีจำนวน 178,500 ล้านบาท

ขยายเพดานดีเซลเกิน 30 บาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้หารือสถานการณ์ราคาดีเซลขายปลีกในประเทศที่กองทุนน้ำมันฯ ประกาศอัตราชดเชย

ทั้งนี้ กบน.เห็นชอบปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตร ได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.2567 ซึ่ง กบน.จะพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงเวลาเพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน และการบริหารจัดการของผู้ค้าน้ำมันจนเกินไป แต่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. 2567 ยังไม่มีการดำเนินการแน่นอน

“กบน.ปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซล เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายในประเทศสอดคล้องตลาดโลกมากขึ้น โดยจะนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกับแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2563-2567” นายวิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ จะเป็นการช่วยให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ ดีขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือรองรับกับสถานการณ์วิกฤติราคาน้ำมันที่ผันผวนต่อเนื่องและจะประสานกระทรวงการคลังเพื่อหารืออัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล

ของบกลางอุ้มราคา LPG ต่ออีก 2 เดือน

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2567 เห็นชอบตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่ออีก 3 เดือน โดยมีผลวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2567 เพื่อดูแลผลกระทบค่าครองชีประชาชนหลังมาตรการตรึงราคาสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2567

ทั้งนี้ กบง.ให้กองทุนน้ำมันฯ ตรึงไว้ก่อน 1 เดือน คือ เดือน เม.ย.2567 และจะของบกลางเข้ามาช่วยอีก 2 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจาก ครม.ทั้งภาษีน้ำมันดีเซลและงบประมาณกลาง ซึ่งต้องเสนอ ครม.ก่อนที่มาตรการลดภาษีดีเซลจะครบกำหนด 19 เม.ย.2567

ชี้หลายประเทศเลิกอุ้มราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ต่อมาตรการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตร ที่ครบกำหนดวันที่ 19 เม.ย.2567 ซึ่งยอมรับว่า 1 บาทต่อลิตร หากเทียบกับที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องแบกรับก็ไม่พอแต่เข้าใจกระทรวงการคลังที่ต้องการจัดเก็บรายได้

นอกจากนี้ หากไม่มีงบกลางมาช่วยกองทุนน้ำมันฯ ต้องลดการชดเชยราคาน้ำมันลง 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นในลักษณะการลดการชดเชยราคาดีเซลแบบขั้นบันได ซึ่งระหว่างนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งหารือรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งยังมีเวลาก่อนมาตรการลดภาษีจะครบกำหนด แต่ควรปรับขึ้นราคาให้เป็นไปตามกลไกตลาด

“หลายประเทศเลิกอุ้มราคาพลังงานมานานแล้ว แม้ช่วงนี้ราคาดีเซลลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเกาหลีใต้และจีนยังอยู่ระดับสูงท่ามกลางอุปสงค์ในภูมิภาคที่ทรงตัว แต่ตลาดคาดการณ์ว่าการส่งออกของจีนจะปรับลดลงในเดือน เม.ษ.-พ.ค.นี้ เพราะการปิดซ่อมบำรุงภายในประเทศจึงต้องจับตาความผันผวนของราคาอย่างใกล้ชิด” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ จากการที่กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักเงินจ่ายชดเชยก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนราว 30 ล้านบาทต่อเดือน รวมอุดหนุนดีเซลวันละ 67 ล้านลิตร ซึ่งอุดหนุนวันละกว่า 4 บาท เฉลี่ยเดือนละกว่า 8,000 ล้านบาท แม้ได้เงินจากการเก็บจากผู้ใช้เบนซินมาบ้างเฉลี่ยเดือนละ 2,000 ล้านบาท ก็ถือว่าไม่คุ้ม” แหล่งข่าว กล่าว

ปตท.มองราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้75-85 ดอลลาร์

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดการณ์ราคาน้ำมันดูไบปี 2567 มีแนวโน้มลดลงจากปี 2566 โดยเคลื่อนไหวที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะดีมานด์ถูกกดดันจากความกังวลด้านการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และด้านซัพพลายจากกลุ่มนอน-ออยล์ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐ บราซิล อิหร่าน และเวเนซูเอลา

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2567 ขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้น แต่อาจเผชิญอุปสรรคหลายด้าน โดยปัจจัยที่น่าจับตามองของโลกมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2.นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ การควบคุม 3.การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก 4.อุปทานจากกลุ่มนอน-โอเปก 5.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์