การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์

การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์

การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ขบวนที่ 901 เส้นทางประวัติศาสตร์จากสถานีกรุงเทพ – อยุธยา พร้อมประกาศผลักดันการลงทุนโครงข่ายทางคู่ และนวัตกรรมเพื่อบริการผู้โดยสาร

วันนี้ (26 มี.ค. 2567) เมื่อเวลา 07.00 น. ณ ตึกบัญชาการรถไฟ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีตักบาตรพระสงฆ์เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 127 ปี โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการรถไฟฯ นายวิม รุ่งวัฒนาจินดา นายศันสนะ สุริยะโยธิน นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย นายอารีศักดิ์ เสถียรภาพอยุทธ์ กรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างการรถไฟฯ เข้าร่วมงาน

จากนั้น นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ เดินทางไปสักการะบวงสรวงอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟหลวงสายแรกในสยาม เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2439 เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา เวลาต่อมาได้เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ขบวนที่ 901 เส้นทางประวัติศาสตร์จากสถานีกรุงเทพ - อยุธยา ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำ รุ่นแปซิฟิก รุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมากที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานในช่วงรอบปีที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ผลักดันพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้น จนสำเร็จเป็นรูปธรรมในหลากหลายด้าน ทั้งในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางให้ประสบความสำเร็จตามแผน การขับเคลื่อนการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อย่างต่อเนื่องอีก 7 เส้นทาง การอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ

การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์

รวมไปถึงการพัฒนาระบบการจองตั๋วโดยสารและชำระค่าตั๋วโดยสารให้ครบวงจร การพัฒนาแอปพลิเคชันตารางเดินรถ (SRT TIMETABLE) การพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามขบวนรถ (TRAIN TRACKING SYSTEM) การเดินรถท่องเที่ยวเพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชน เพื่อต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ

นอกจากนี้ ยังพัฒนาพื้นที่สายทางและสถานีรถไฟทั่วประเทศให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุด ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนใกล้เคียงพื้นที่รถไฟให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เกิดความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ชุมชน ท้องถิ่นเกิดการกระจายรายได้สู่คนในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโต และเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตตามไปด้วยอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังมีการดูแลทางสังคม เช่น การจัดโครงการ Doctor Train ที่เป็นการนำคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีชื่อเสียงของประเทศจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ออกหน่วยแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ทำการตรวจ รักษา ดูแลพี่น้องคนรถไฟ และพี่น้องประชาชน และรักษาอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ Tele Med หรือ VDO Conference

การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์

ในด้านของเยาวชน การรถไฟฯ ร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำน้องผู้พิการทางสายตาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ การจัดโครงการนำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ทัศนศึกษาทางรถไฟ การสนับสนุนโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้โดยสนับสนุนตู้โดยสารในการเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ

และร่วมกับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ นำคณะนักเรียนผู้พิการและด้อยโอกาสนั่งรถไฟไปศึกษาประวัติศาสตร์ ผ่านแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเส้นทางต่างๆ อาทิ กรุงเทพ – กาญจนบุรี กรุงเทพ – ฉะเชิงเทราให้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย

การรถไฟฯ สถาปนาครบรอบ 127 ปี เปิดขบวนรถจักรไอน้ำเส้นทางประวัติศาสตร์

รวมถึงการจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ กับพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับการรถไฟฯ ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ตัวอย่างที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า การรถไฟฯ มุ่งมั่นในการยกระดับพัฒนาการทำงาน และการให้บริการ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของบริบทแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้เกี่ยวข้อง หรือ Stakeholders ทั้งหมดตามวิสัยทัศน์ “เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อและการขนส่งที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย”

ท้ายนี้ การรถไฟฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการระบบขนส่งทางรางของไทย ให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในทุกภูมิภาค สามารถอำนวยความสะดวกสูงสุดต่อการเดินทาง ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับ ประชาชน และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศ สามารถแข่งขันทัดเทียมกับอาณาประเทศอย่างยั่งยืน