'อินโนพาวเวอร์' ทุ่ม 500 ล้าน จ่อตั้งโรงงานประกอบรถอีวีในไทย

'อินโนพาวเวอร์' ทุ่ม 500 ล้าน จ่อตั้งโรงงานประกอบรถอีวีในไทย

"อินโนพาวเวอร์" จ่อตั้งโรงงานประกอบรถอีวีในไทย เร่งเจรจาพันธมิตรต่างชาติ หวังเป็นอีกออปชันให้กับคนที่อยากเปลี่ยนมาใช้รถอีวี ชูแผน ดีคาร์บอนไนเซชัน รับมือการค้า การลงทุนโลก ตั้งเป้ารายได้ปี 2567 โต 100% พร้อมช่วยลดคาร์บอนเพิ่มอีกเท่าตัวสู่ระดับ 2 ล้านตัน

วันที่ 19 มีนาคม 2567 นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านรายได้จะเติบโต 100% เป็น 300 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีประมาณ 150.4 ล้านบาท ทั้งยังวางเป้าหมายด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็น 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1 ล้านตัน หรือลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 100% เช่นกัน

ล่าสุดขณะนี้บริษัทร่วมกับพันธมิตร จากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรม EV (EV menufacturer) อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจโรงงานประกอบรถ EVขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าหากได้ข้อสรุปในไตรมาส 2 จะนำไปสู่การลงทุนในเฟสแรกใช้งบประมาณ 400-500 ล้านบาท ธุรกิจนี้จะเป็นธุรกิจใหม่ที่จัดอยู่ในกลุ่ม mobility 

ซึ่งธุรกิจกลุ่ม mobilityนี้ นอกจากจะมีการทำเครื่องชาร์จ EleXa แล้วยังมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปเป็นไปส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ให้ครบเพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตัวอย่างโครงการในปีนี้ ได้แก่ การบริหารจัดการ Fleet Card หรือบัตรชำระค่าอัดประจุไฟฟ้าของรถ EV สำหรับองค์กรอีกด้วย

พร้อมกันนี้ อินโนพาวเวอร์ วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ ปี 2567 ผ่าน Decarbonization Partner หรือการเป็นพันธมิตร พิชิตคาร์บอน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับมือกระแส Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ที่ต้องการได้รับคำแนะนำ แนวทางการบริหารจัดการคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ช่วยผู้ประกอบการก้าวข้ามขีดจำกัดในการแข่งขันที่ต้องคำนึงถึง ESG หรือการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายให้ได้พันธมิตร 100 ราย

สำหรับกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Decarbonization Partner บริษัท มีโซลูชัน และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย 1)Greenhouse Gas Report (GHG) หรือแพลตฟอร์ม GHG สำหรับคำนวณ และแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้าง Awareness หรือความตระหนักรู้ให้แก่บริษัทผู้ประกอบการสำรวจธุรกิจของตนเองว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจในการเข้าถึงเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งในช่วงนี้แพลตฟอร์ม GHG จะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าในจำนวนจำกัด จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมสำรวจธุรกิจของตนเองเพื่อวางแผนได้อย่างเหมาะสม

2)Renewable Energy Certificate (REC) หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียน และขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัท ได้ออกใบรับรอง REC ให้กับผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 2 ล้านREC โดยในปี 2567 ได้ขยายการออกใบรับรองให้เข้าถึงองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทยโดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย

3)Energy Ignition Ventures (EIV)  หรือการลงทุนในกองทุน และสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทร่วมกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) จากประเทศสิงคโปร์ โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ตอัปกลุ่ม Decarbonization Technology ที่เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 

โดยมองว่า หลายๆ บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงทุนสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดกับธุรกิจของตนได้ ซึ่งในเรื่องความยั่งยืนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจพลังงานเท่านั้น ยังกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงของการก่อตั้งธุรกิจ บริษัทมีรายได้รวม 150.4 ล้านบาท เติบโต 700% จากปี 2565

โดยในแต่ละธุรกิจมีการเติบโต ดังนี้ ในส่วนของ Future of Energy (พลังงานแห่งอนาคต) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ธุรกิจการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และ Sustainability (นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน) การให้คำปรึกษา การบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนในองค์กร และการจัดหาซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) เติบโตเพิ่มขึ้น 616% จากปี 2565 

ในส่วนของ Future of Mobility (วิถีการเดินทางแห่งอนาคต) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโต 703% จากปี 2565  โดยกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% 

“ผมมองว่าการขยายตัวทางธุรกิจของอินโนพาวเวอร์ในปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งกับปีแรกของการดำเนินธุรกิจ และจากการที่ทีมได้ทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ต่ออินโนพาวเวอร์ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอย่างเต็มที่ และต่อเนื่อง แม้ว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาด และกลุ่มลูกค้ามากนัก แต่บริษัทมีความมุ่งมั่น และทุ่มเทเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และในปี 2567 
น่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งสำหรับอินโนพาวเวอร์ในการขับเคลื่อน Decarbonization Partner พร้อมให้ความมั่นใจกับพันธมิตรที่ร่วมพิชิตลดคาร์บอนได้ว่า เราจะใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญช่วยให้พันธมิตรของเราบรรลุเป้าหมายที่มุ่งสู่ Net Zero ได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยการลงทุนอย่างเหมาะสม” นายอธิป กล่าว

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์