'อินโนพาวเวอร์' หนุนภาคธุรกิจ รับมือการค้า - ลงทุน สู่สังคมไร้คาร์บอน

'อินโนพาวเวอร์' หนุนภาคธุรกิจ รับมือการค้า - ลงทุน สู่สังคมไร้คาร์บอน

“อินโนพาวเวอร์” แจงแผนธุรกิจปี 2567 “พันธมิตร พิชิตคาร์บอน ตลาดธุรกิจเอกชน หนุนภาคธุรกิจก้าวข้ามอุปสรรคการค้า การลงทุน รับมือกระแสที่ต้องมุ่งไปสู่สังคมไร้คาร์บอน พร้อมประกาศเป้าหมายรายได้เติบโต 100% เป็น 300 ล้าน เพิ่มลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีกเท่าตัวสู่ระดับ 2 ล้านตัน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัท ประกาศตัวเป็น “Decarbonization Partner” ซึ่งบริษัท มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยวางเป้าหมายรุกตลาดองค์กรธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมเอกชน ด้วยการเป็นพันธมิตรให้คำปรึกษา วางกลยุทธ์ และบริหารจัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน แบบครบวงจร นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับแนวโน้ม มาตรการข้อกีดกันทางการค้า การลงทุน และภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน

“ปี 2567 อินโนพาวเวอร์ เปิดแนวทางการดำเนินธุรกิจผ่าน Decarbonization Partner หรือการเป็นพันธมิตร พิชิตคาร์บอน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับมือกระแส Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ที่ต้องการได้รับคำแนะนำ แนวทางการบริหารจัดการคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ช่วยผู้ประกอบการก้าวข้ามขีดจำกัดในการแข่งขันที่ต้องคำนึงถึง ESG หรือการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)” นายอธิป กล่าว

สำหรับกิจกรรม และการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวทาง Decarbonization Partner บริษัท มีโซลูชันและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประกอบด้วย 1)Greenhouse Gas Report (GHG) หรือแพลตฟอร์ม GHG สำหรับคำนวณ และแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการสร้าง Awareness หรือความตระหนักรู้ให้แก่บริษัทผู้ประกอบการสำรวจธุรกิจของตนเองว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจในการเข้าถึงเป้าหมายไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งในช่วงนี้แพลตฟอร์ม GHG จะเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกค้าในจำนวนจำกัด จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมสำรวจธุรกิจของตนเองเพื่อวางแผนได้อย่างเหมาะสม

2) Renewable Energy Certificate (REC) หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียน และขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัท ได้ออกใบรับรอง REC ให้กับผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 2 ล้าน REC โดยในปี 2567 ได้ขยายการออกใบรับรองให้เข้าถึงองค์กร และประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทยโดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย

3)Energy Ignition Ventures (EIV)  หรือการลงทุนในกองทุน และสตาร์ตอัปด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งบริษัท ร่วมกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) จากประเทศสิงคโปร์ โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ตอัปกลุ่ม Decarbonization Technology ที่เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่ง และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมองว่า หลายๆ บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงทุนสามารถนำเทคโนโลยีมาต่อยอดกับธุรกิจของตนได้ ซึ่งในเรื่องความยั่งยืนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจพลังงานเท่านั้น ยังกระจายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ให้ครบเพื่อเป็นการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตัวอย่างโครงการในปีนี้ ได้แก่ การบริหารจัดการ Fleet Card หรือบัตรชำระค่าอัดประจุไฟฟ้าของรถ EV

สำหรับองค์กรในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตทั้งด้านรายได้ และด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Emission) โดยรายได้ในปีนี้จะเติบโตเป็น 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งมีประมาณ 150.4 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 100% รวมทั้งยังวางเป้าหมายด้านการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็น 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1 ล้านตัน หรือลดการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 100% เช่นกัน

นายอธิป กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงของการก่อตั้งธุรกิจ บริษัทมีรายได้รวม 150.4 ล้านบาท เติบโต 700% จากปี 2565 โดยในแต่ละธุรกิจมีการเติบโต ดังนี้ ในส่วนของ Future of Energy (พลังงานแห่งอนาคต) ธุรกิจการให้คำปรึกษา และพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด และ Sustainability (นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน) การให้คำปรึกษา การบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนในองค์กร และการจัดหาซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) เติบโตเพิ่มขึ้น 616% จากปี 2565 ในส่วนของ Future of Mobility (วิถีการเดินทางแห่งอนาคต) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านยานยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์เชื้อเพลิงสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโต 703% จากปี 2565  
“ผมมองว่าการขยายตัวทางธุรกิจของอินโนพาวเวอร์ในปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งกับปีแรกของการดำเนินธุรกิจ และจากการที่ทีมได้ทำงานเชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ต่ออินโนพาวเวอร์ และ
สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอย่างเต็มที่ และต่อเนื่อง แม้ว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในตลาดและกลุ่มลูกค้ามากนัก แต่บริษัทมีความมุ่งมั่น และทุ่มเทเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และในปี 2567 
น่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่งสำหรับอินโนพาวเวอร์ในการขับเคลื่อน Decarbonization Partner พร้อมให้
ความมั่นใจกับพันธมิตรที่ร่วมพิชิตลดคาร์บอนได้ว่า เราจะใช้ความรู้ และประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญช่วยให้พันธมิตรของเราบรรลุเป้าหมายที่มุ่งสู่ Net Zero ได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยการลงทุนอย่างเหมาะสม” นายอธิป กล่าวทิ้งท้าย

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์