‘สภาพัฒน์’ เดินหน้าแผน ‘SEA’  ชงตั้ง ‘กสย.’ นายกฯประธาน ประเมิน ‘โครงการใหญ่’

‘สภาพัฒน์’ เดินหน้าแผน ‘SEA’   ชงตั้ง ‘กสย.’ นายกฯประธาน ประเมิน ‘โครงการใหญ่’

"สภาพัฒน์" จัดสัมนารับฟังความคิดเห็นขับเคลื่อนการประเมินผลทางยุทธศาสตร์โครงการสำคัญ เตรียมชงตั้งบอร์ดระดับชาติ "กสย." มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังคลอดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เตรียมจัดทำคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA เผยแพร่ประชาชน

เมื่อเร็วๆนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 และวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุม

‘สภาพัฒน์’ เดินหน้าแผน ‘SEA’   ชงตั้ง ‘กสย.’ นายกฯประธาน ประเมิน ‘โครงการใหญ่’

นายวิชญายุทธ กล่าวว่า สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SEA และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำ SEA ไปใช้ในกระบวนการจัดทำแผน รวมทั้งพัฒนากลไกทางกฎหมาย โดยจัดทำ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุวาระเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการประกาศใช้ต่อไป

ตั้งบอร์ด กสย.พิจารณาโครงการ

ภายหลังจากร่างระเบียบฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กสย.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่ในกำหนดแนวทางการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน SEA หลักเกณฑ์ แนวทาง คู่มือ และวิธีการของ SEA ติดตามและประเมินผล SEA และออกประกาศกำหนดรายชื่อของแผนตาม 8 ประเภทแผนที่กำหนดไว้

และจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ ภายใต้ กสย. คือ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการมีส่วนร่วม และคณะอนุกรรมการด้านการติดตาม ประเมินผล และพัฒนากลไก SEA เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กสย. ในการกำกับ ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานเจ้าของแผน เพื่อให้การนำกระบวนการ SEA ไปใช้ในการจัดทำแผนเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

‘สภาพัฒน์’ เดินหน้าแผน ‘SEA’   ชงตั้ง ‘กสย.’ นายกฯประธาน ประเมิน ‘โครงการใหญ่’
สศช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนหลักจึงได้มีการเตรียมความพร้อม โดยจัดทำคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ขึ้น เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

การจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุมมอง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อร่างคู่มือการกำกับงานวิชาการฯ เพื่อให้คู่มือการกำกับงานวิชาการฯ ดังกล่าวมีความถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 84 คน เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บริษัทที่ปรึกษา สถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม 8 ประเภทแผน ประกอบด้วย ด้านคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผังเมือง และเขตพัฒนาพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ผลที่ได้จากการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงคู่มือการกำกับงานวิชาการ ด้านการจัดทำแผนด้วย SEA ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริงอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของการจัดทำแผน เพื่อรองรับการขับเคลื่อนงาน SEA ของประเทศในระยะต่อไป

โครงการ 8 ประเภทที่ต้องทำ SEA 

สำหรับโครงการทั้ง 8 ประเภทที่อยู่ในแผนที่ต้องทำ SEA ได้แก่ 

  1. แผนด้านคมนาคม
  2.  แผนพัฒนาพลังงานและแผนสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม
  3.  แผนการบริหารจัดการแร่
  4. แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
  5.  ผังเมือง ตามที่คณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติกำหนด
  6.  แผนบริหารจัดการลุ่มน้ำหรือแผนพัฒนาชายฝั่งทะเล
  7.  แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่พิเศษ
  8. แผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

ส่วนแผนหรือแผนงานในรายสาขาหรื่อเชิงพื้นที่ นอกเหนือจาก ที่กล่าวมาให้เป็นไปตามที่ กสย. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยรายละเอียดของระดับของแผนหรือแผนงาน ที่ต้องจัดทำ SEA จะมีการกำหนดร่วมกับหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงานต่อไป

ทั้งนี้สำหรับหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงาน นอกเหนือจาก 8 ประเภทนี้ที่ต้องการจัดทำ SEA สามารถดำเนินการได้ตามความเห็นชอบของหน่วยงานเจ้าของแผนหรือแผนงานนั้นๆ