คลอดระเบียบสำนักนายกฯตั้ง ‘บอร์ด SEA’ วิเคราะห์โครงการใหญ่ ลดความขัดแย้ง

คลอดระเบียบสำนักนายกฯตั้ง ‘บอร์ด SEA’ วิเคราะห์โครงการใหญ่ ลดความขัดแย้ง

รัฐบาลคลอด ระเบียบสำนักนายกฯ ตั้ง “บอร์ด SEA” หรือคกก.พัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กยส.) เตรียมทำแผน SEA ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่ ประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะทำโครงการขนาดใหญ่ ลดความขัดแย้ง

การวางแผนการพัฒนาจากส่วนกลางที่มีการกำหนดนโยบายและวางแผนในการก่อสร้างโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แม้จะมีการศึกษาว่ามีผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งพื้นที่โครงการ และเป็นผลดีกับเศรษฐกิจในภาพรวมแต่หลายต่อหลายครั้งการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนผู้ลงทุน กับชาวบ้าน และภาคประชาชนในพื้นที่

  

เช่น การประท้วงต่อต้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต"ในปี 2561 – 2562 นำมาสู่การชุมนุมประท้วงต่อต้านโครงการ ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนโครงการ และปรับรูปแบบการประเมินความเหมาะสมของโครงการโดยเครื่องมือหนึ่งที่นำมาใช้คือการประเมินผลเชิงสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environment Assessment) หรือ “SEA”

โดยนิยามของ “SEA” คือ “กระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย แผน หรือแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งต้องนำผลไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”โดยในประเทศไทยมีการนำ SEA มาใช้กว่า 20 ปีแล้วตั้งแต่ประมาณปี 2546 และมีการบรรจุไว้ในแนวทางการทำงานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันที่ 19 ก.ย.2561

 

โดยมีแนวคิดที่จะมีการทำเรื่อง SEA ให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมารับผิดชอบ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้มีการเดินหน้าในเรื่อง SEA อย่างเป็นรูปธรรม

โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ และรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง SEA กับภาคส่วนต่างๆเพื่อให้การขับเคลื่อน SEA สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับแผนที่ต้องจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ครม.กำหนด ให้จัดทำแผนที่เกี่ยวข้องที่ต้องทำ SEA ได้แก่ คมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผังเมือง เขตพัฒนาพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

คลอดระเบียบสำนักนายกฯตั้ง ‘บอร์ด SEA’ วิเคราะห์โครงการใหญ่ ลดความขัดแย้ง

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการจัดทำ SEA โดยหลักคือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการประเมินความเหมาะสมของโครงการ โดยการทำ SEA จะต้องทำทำก่อนที่จะเอาโครงการขนาดใหญ่ลงไปในพื้นที่ต่างๆ โดยในพื้นที่ใดมีแผนที่จะพัฒนา และมีโครงการขนาดใหญ่มากๆที่จะลงไปในพื้นที่ต่างๆ โดยในการวางแผนล่วงหน้า ก็ต้องทำ SEA เพื่อให้ทั้งฝ่ายนโยบาย และคนในพื้นที่เห็นข้อมูลต่างๆและดูทางเลือกร่วมกันว่าพื้นที่นั้นๆมีทางเลือกในการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องของการทำแผนการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

“ขั้นตอนการทำ SEA จะเป็นแผนที่ทำก่อน เนื่องจากเป็นภาพใหญ่ของการพัฒนาพื้นที่ ในอนาคตการทำโครงการเชิงพื้นที่ต้องมากำหนดพื้นที่ แล้วก็มาทำแผน SEA ว่าพื้นที่นั้นมีความเหมาะสม มีทางเลือกในการทำโครงการอะไร แล้วจะมีโครงการอะไรลงไปบ้าง แต่ละโครงการจะมีผลลบ และผลบวกอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพตรงกันระหว่างฝ่ายนโยบายและ คนในพื้นที่ ซึ่ง SEA นั้นจะช่วยให้แผนพัฒนาพื้นที่ แผนภาค และแผนจังหวัดที่มีการวางไว้มีความครบถ้วนมากขึ้น ส่วนการทำการประเมิน EIA HIA ถือว่าเป็นขั้นตอนในระดับโครงการ โปรเจ็กต์ที่ต้องมีการทำตามข้อกำหนด” นายดนุชา กล่าว


ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้เห็นชอบ ในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... ซึ่งสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment : SEA)ตามประเภทของแผน เช่น คมนาคม พลังงาน และอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาประเทศตามประเภทของแผนที่กำหนด ตามที่ สศช. เสนอ

นอกจากนี้ ครม.ให้รับข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่เห็นว่าการวางและจัดทำผังเมืองเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 โดยมีกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง และมีขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ. .... อยู่แล้ว

ดังนั้น การกำหนดให้การวางแผนและจัดทำผังเมืองต้องได้รับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามร่างระเบียบฉบับนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคและความล่าช้าในการขับเคลื่อนการวางผังเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชน เมือง จังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้ ควรเพิ่มประเภทแผนที่ต้องจัดทำSEAและควรระบุนิยามแต่ละประเภทของแผนที่เพื่อให้เกิดความชัดเจน ควรพิจารณาความสัมพันธ์ของแผนที่เชื่อมโยงกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจส่งผลได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ไปประกอบการพิจารณาด้วย

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ พ.ศ... กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (กสย.) มีองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ดังนี้

ในส่วนขององค์ประกอบของ กสย. ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 13 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงกรพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขาธิการ สศช. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 9 คน โดยมีรองเลขาธิการ สศช. และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม

สำหรับหน้าที่และอำนาจของ กสย. ที่สำคัญ ได้แก่

1.กำหนดนโยบาย แนวทาง การพัฒนา และกลไกในการขับเคลื่อนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่าง ยั่งยืน แล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

2. กำหนดรายชื่อแผนที่ต้องทำการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์

3. กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง คู่มือ และวิธีการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4.เสนอแนะแนวทางการสร้างขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง

5. พิจารณาผลการติดตามและ ประเมินผลการดำเนินงานด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ตลอดจนให้คำแนะนำหรือ ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคของการนำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ

6.เสนอแน่ะให้มีการปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบ เพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

 

และ 7. ออกประกาศ และคำสั่ง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามระเบียบการขับเคลื่อน SEA