ผลสอบ ‘PISA’ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ‘สภาพัฒน์’ แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาศึกษารอบด้าน

ผลสอบ ‘PISA’ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’  ‘สภาพัฒน์’ แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาศึกษารอบด้าน

'สภาพัฒน์' เผยคะแนนสอบ PISA เด็กไทยตกต่ำสะท้อนภาพเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ - สังคม ปัญหาหลายด้านกระทบการศึกษาเด็กไทย แนะ 4 ข้อภาครัฐยกเครื่องระบบการศึกษา จัดสรรทรัพยากรให้เท่าเทียม มีคุณภาพ เพิ่มบทบาทครู-ผู้ปกครอง ให้ช่วยเหลือการเรียนรู้ของเด็กมากขึ้ร

สถานการณ์การศึกษาของไทยเป็นปัญหาสะสมมานานและเริ่มส่งสัญญาณเข้าขั้นวิกฤต สะท้อนจากตัวชี้วัดทางการศึกษาในระดับชาติ และนานาชาติทั้งจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น การทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาหรือจบในสาขาที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ไปจนถึงการมีคุณภาพการศึกษาที่ลดลง โดยเฉพาะผลคะแนนที่ใช้วัดระดับ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่ไทยได้คะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งไม่เพียงสะท้อนคุณภาพการศึกษาภายในประเทศที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดย PISA เป็นการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ใน 81 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจทั่วโลก จึงถือว่าเป็นตัวชี้วัดในการประเมินนักเรียนที่ใหญ่ที่สุด และมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการประเมินล่าสุดในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมการทดสอบกว่า 690,000 คน จากจำนวนนักเรียนที่มีอายุ 15 ปี รวม 29 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 8,495 คน จาก 279 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษา

ผลสอบ ‘PISA’ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’  ‘สภาพัฒน์’ แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาศึกษารอบด้าน

นายวิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าภาพรวมผลคะแนน PISA ปี 2565 พบว่า ทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของ COVID-19 และเมื่อพิจารณาคะแนนคณิตศาสตร์ ซึ่งในปี 2565 ถูกนำมาวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า ประเทศที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 5 อันดับแรกอยู่ในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ขณะที่ประเทศสมาชิก OECD กลับมีค่าเฉลี่ยของคะแนนต่ำกว่าทั้ง 3 ด้าน

 สำหรับประเทศไทย คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD และเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเข้าร่วมการประเมิน นอกจากนี้ โรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยยังเป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD อีกทั้ง เด็กจน มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเด็กในครัวเรือนฐานะดี แต่ไม่ใช่เด็กจนทุกคนจะได้คะแนนต่ำ โดยเด็กกลุ่มนี้ร้อยละ 15 เป็นนักเรียนกลุ่มช้างเผือก หรือมีคะแนนคณิตศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (Percentile ที่ 75 ขึ้นไป)

ทั้งนี้ นอกเหนือจากผลการประเมินของ PISA ข้างต้น ยังพบปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของเด็ก ดังนี้

1.ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยไทยมีสัดส่วนเด็กไทยที่มีไม่ได้ทานอาหารครบทุกมื้อเนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ สูงเป็นอันดับ 6 จาก 80  กว่าประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ ขณะเดียวกันครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการเรียนของเด็กได้อย่างจำกัด และน้อยกว่าเด็กในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี สะท้อนจากอัตราการเรียนสุทธิระดับปริญญาตรี ปี 2565 ของเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด (Decile ที่ 1) ที่อยู่ในระดับต่ำ

2.การกระจายทรัพยากรทางการศึกษามีความแตกต่างกันตามขนาดโรงเรียนและสังกัด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมีขนาดเล็กและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านต่ำกว่ากลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา ส่วนหนึ่งเกิดจากการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐตามขนาดโรงเรียน รวมถึงการจัดสรรบุคลากรครูที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง

ผลสอบ ‘PISA’ สะท้อน ‘ความเหลื่อมล้ำ’  ‘สภาพัฒน์’ แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาศึกษารอบด้าน

 

3.บทบาทของครอบครัวที่น้อยลง โดยผู้ปกครองไทยรับรู้ผลการเรียนของบุตรหลานน้อยเป็นอันดับ 3 จากประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมทดสอบ รวมทั้งสัดส่วนเด็กไทยที่ครอบครัวมีการสอบถามถึงกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนในแต่ละวัน อย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ยังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ซึ่งความใส่ใจของผู้ปกครองถือเป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้และทัศนคติของเด็ก

4.ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2555 ส่วนหนึ่งเกิดจากภาระงานของครูไทยที่มีจำนวนมากนอก อาทิ การจัดทำรายงานเพื่อใช้เลื่อนตำแหน่ง โดยการศึกษาของ OECD พบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน และความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียน จะส่งให้ผลสัมฤทธิ์
การเรียน ความเป็นอยู่ และทักษะทางอารมณ์และสังคมของนักเรียนดีขึ้น

5.ความปลอดภัยของนักเรียน โดยเด็กไทยมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่โรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 จาก 75 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่า เด็กกำลังเผชิญกับความเสี่ยงและการไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร โดยเฉพาะจากบุคลากรในสถานศึกษา ขณะเดียวกันเด็กยังมีโอกาสเผชิญกับอันตรายอื่น ๆ อาทิ การก่ออาชญากรรมในโรงเรียน โดยปัจจุบันไทยยังไม่มีมาตรการรับมือที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร นอกจากนี้ เด็กไทยมากกว่า 1 ใน 3 ยังถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ในสถานศึกษาอีกด้วย

และ 6.สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเด็กไทยเกือบ 3 ใน 4 ระบุว่าบรรยากาศในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เช่น มีเสียงรบกวนและความวุ่นวาย หรือถูกรบกวนจากการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล โดยสาเหตุที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาด้านบุคลากร โดยผลการสำรวจเยาวชนปี 2565 ของ คิด for คิดส์ พบว่า นักเรียนบางส่วนเคยเผชิญปัญหาในสถานศึกษา ทั้งปัญหาด้านบุคลากรและด้านทรัพยากร อาทิ ครูไม่เปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือสื่อการสอนล้าสมัย

แนะ 4 ข้อแก้ปัญหาการศึกษารอบด้าน 

ทั้งนี้ สศช.เสนอแนะข้อว่าเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา 4 ข้อดังนี้

1.สถานศึกษาต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาที่เสมอภาค โดยควรพิจารณาเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณและบุคลากรครูตามความต้องการและบริบทของสถานศึกษาร่วมด้วย

 

2. ภาครัฐต้องส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับผู้เรียน และมีกลไกรองรับเมื่อเด็กหลุดออกนอกระบบ โดยควรสนับสนุนให้สถานศึกษามีการดำเนินการหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความยืดหยุ่นในการจัดทำหลักสูตร รวมถึงใช้กลไกการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น อาทิ ขยายบทบาทของ กสศ. นอกจากนี้ ต้องมีกลไกในการค้นหาและนำเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ ควบคู่กับการจัดทำฐานข้อมูลเด็กนอกระบบ โดยอาจอาศัยกลไกระดับพื้นที่ใน การติดตามดูแลเด็กที่หลุดออกจากระบบ

3.การปรับสภาพแวดล้อมทางการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยการมีพื้นที่การรับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมบทบาท การมีส่วนร่วม และสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกไว้วางใจและมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการและการอบรมแก่บุคลากร และต้องมีการหารือระหว่างครูและนักเรียนเพื่อกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน รวมถึงต้องมีเครื่องมือประเมิน/ปรับปรุงกระบวนการทำงานร่วมกัน

และ 4.การสนับสนุนให้ครอบครัวมีบทบาทในการดูแลเด็กร่วมกับสถานศึกษาโดยมีพื้นที่การสื่อสารระหว่างผู้ปกครอง เด็ก ครู ในการพูดคุยเรื่องเรียน ความต้องการ พฤติกรรม ศักยภาพ และโรงเรียนควรมีข้อมูลของนักเรียนเพียงพอในการติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายคน ตามสภาพปัญหา อีกทั้ง ต้องสังเกตความผิดปกติ และไม่ปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง