ธุรกิจไทยในเมียนมาสะดุด 'พับแผนลงทุน' จับตาต่างชาติขายกิจการทิ้ง

ธุรกิจไทยในเมียนมาสะดุด 'พับแผนลงทุน' จับตาต่างชาติขายกิจการทิ้ง

"เอกชน" รับธุรกิจในเมียนมาสะดุด ชะลอลงทุน บางประเทศขายกิจการ ส่วนยอดการค้าชายแดนลดลดต่อเนื่อง 11% ขอบคุณรัฐบาลไทยเร่งเปิดด่านคิดแบบนักธุรกิจ พร้อมเตรียมแผนใช้โอกาสในช่วงที่ประเทศอื่นขายกิจการต่อยอดธุรกิจไทย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ธุรกิจที่ลงทุนในเมียนมาต้องติดตามปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น โดยฝ่ายตะวันตกไม่ชอบรัฐบาลเมียนมา เพราะทำธุรกิจกับจีน 

ดังนั้น การปกครองระบบทหารทำให้ค่ายตะวันตกขายกิจการย้ายการลงทุนไปที่อื่น ส่วนธุรกิจไทยมีการชะลอแผนที่จะขยายการลงทุนเพื่อลงรอสถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น ในเชิงผลกระทบของไทยยังน้อยกว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ทำงานเชิงรุกตามที่ ส.อ.ท.ได้ยื่นข้อเสนอให้รีบเปิดด่านให้เร็วและรัฐบาลไทยเปิดทันที เพราะจุดด่านต้องเป็นจุดที่พัฒนาให้ทันสมัย การขึ้นลงสินค้า การเข้าออกสินค้า ต้องสะดวกไม่เป็นคอขวด จึงชื่นชมรัฐบาลในแง่ความรวดเร็ว ตัดสินใจแบบนักธุรกิจ รู้ปัญหาและทำทันที

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ คือต้องมองว่าเป็นโอกาส ในขณะที่นักลงทุนชาติอื่นกลัวและขายกิจการ ไทยจะทำอย่างไรที่จะเข้าไปสวมหรือเข้าไปใช้โอกาสนี้ในฐานะที่เราได้เปรียบ ถือเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า จากปัญหาความไม่สงบในเมียนมา ยังไม่กระทบกับนักลงทุนไทยมากเท่าที่ควร จากการที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยโชคดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อหลายปีก่อน มีการหารือการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนที่มีอัตราเติบโตต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี จากความต้องการใช้สินค้าไทยมากขึ้น 

สำหรับปัญหาขณะนี้อยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีนโยบายร่วมกันโดยให้สามารถใช้เงินร่วมกันได้อย่างสะดวกที่เป็นเงินท้องถิ่น คือ บาทกับจ๊าด ซึ่ง ธปท.ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมา ถือเป็นจุดสำคัญมาก

ทั้งนี้ เมื่อเมียนมาเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ เกิดปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้า ทำให้เงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์คงคลังเหลือน้อย ธนาคารกลางของเมียนมาจึงประกาศให้หยุดการซื้อขาย เพื่อรักษาเงินคลังตราต่างประเทศที่เหลือน้อยมาก ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่นำเข้าและส่งออกไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว ไทยอยู่อันดับ 3-4 ต่อจากสิงคโปร์ และจีน ซึ่งซื้อขายเงินดอลลาร์ยังได้รับผลกระทบ ส่วนไทยได้รับอานิสงค์ไม่ได้รับผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน

“แต่แน่นอน ภายหลังสงครามขยายตัวมา เข้าไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาสู้รบใกล้ชายแดนไทย ทำให้ระบบโลจิสติกส์เริ่มมีปัญหา การค้าขายส่งสินค้าติดขัด มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจเจอลูกหลง” นายเกรียงไกร กล่าว

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ส.อ.ท. เสนอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนไทย-เมียนมา อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดูแลนักลงทุนไทยที่เข้าไปทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งขณะนี้ การลงทุนปักหัวลง การค้าชายแดนเมียนมาลดลงในปี 2566 ที่ 11% ซึ่งปีนี้ยังมองว่าจะลดลงอยู่ในระดับเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สิ่งที่กังวลคือเรื่องของการป้องกันไม่ให้ชนกลุ่มน้อยยึดอินเวสเมนต์ที่ลงทุนไว้ เพราะบางโรงงานไทยก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รัฐบาลกลางเมียนมา หากยืดยื้ออาจและโดนชนกลุ่มน้อยยึดก็จะยุ่ง ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกลางช่วยให้ความมั่นใจว่าการลงทุนที่ทำไว้จะยังอยู่หลังจากสถานการณ์ปกติ นักลงทุนไทยก็พร้อมที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อ เพราะสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจก็จะต้องโต ซึ่งในมุมนี้ใครจะการันตีให้ให้ความปลอดภัย จึงห่วงตรงนี้มากกว่า

“มุมการค้าชายแดนไม่ห่วง เพราะเราค้าขายฝั่งไทย คนเมียนมาก็ข้ามมาซื้อเพราะต้องกินต้องใช้ แต่ประเด็นยังมีความเสี่ยงของการขนส่ง และยังมีกฏระเบียบการค้าชายแดนเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายไม่ให้เกินอัตราที่กำหนด ซึ่งอาจไม่เฟื้องฟูเหมือนก่อน เพราะตอนนี้โดน 2 แรงบวก ทั้งเมียนมาและลาวที่โดนเรื่องเงินเฟ้อ ดังนั้น ธุรกิจอาจเหนื่อยหน่อย ก็ประคองกันไป และเบรกลงทุน”