ส.อ.ท. ห่วงเอสเอ็มอีวิกฤติ วอน 'นายกฯ-แบงค์ชาติ' เปิดใจหารืออีกครั้ง

ส.อ.ท. ห่วงเอสเอ็มอีวิกฤติ วอน 'นายกฯ-แบงค์ชาติ' เปิดใจหารืออีกครั้ง

ประธาน ส.อ.ท. กังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวแต่เอสเอ็มอีใกล้วิกฤติ ยังหวัง “นายกฯ - ผู้ว่าแบงก์ชาติ” หันหน้าคุยกันอีกครั้ง เพื่อหามาตรการดูแลโดยด่วน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. มีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้น้อย ถูกตอกย้ำและยืนยันจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2566 โตแค่ 1.7% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งไทยต่างเติบโต แต่ GDP ไทยสู่ไม่ได้แลย 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลใจเวลานี้ คือสถานการณ์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ส่วนใหญ่ยอดขาย ยอดบริการ และรายได้ ต่างลดลงอย่างเห็นได้ชัด และไม่ได้มีการเติบโตแบบธุรกิจรายใหญ่ที่สายป่านยาวกว่า เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอี ต้องเผชิญกับภาวะยอดขายลดลงหรือเท่าเดิมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 และเมื่อหมดโควิดก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ 

ขณะที่มาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศเดินหน้า 2 ขาหลัก ก็ทำได้เพียงขาแรก คือ มาตรการลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายทางการเงิน อาทิ ราคาพลังงาน การแก้ปัญหาเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยสูง ขณะที่ขาที่สอง คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่มีแรงส่ง เพราะไม่มียาแรงเข้ากระตุ้น

“ล่าสุดเอสเอ็มอีไทยยังต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่สูงมากจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและยังคงอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าธุรกิจรายใหญ่ แต่ได้รับอนุมัติเงินกู้ที่น้อยกว่ารายใหญ่ ดังนั้น เรื่องนี้รัฐบาล หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาแน่นอน” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หากธปท.ไม่ดำเนินการใดๆ เลย และรอเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเดียวอาจไม่ทันการ ดังนั้น เวลานี้สิ่งที่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วคือ การหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนำประเด็นเศรษฐกิจมาหารือร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร 

“หากทั้ง 2 ฝ่ายเปิดใจหารือกันจะเห็นว่าการที่เศรษฐกิจเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ทำอะไรจะเกิดปัญหาอะไร หรือถ้าลดดอกเบี้ยตามที่รัฐบาลต้องการจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไร อยากให้คุยกันทางการ เปิดใจคุยกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะเดินไปทิศทางไหน”

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ในมุมมองของเอกชนที่สัมผัสกับผู้ประกอบการทุกขนาดและทั่วประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รับทราบดีว่าเวลานี้เศรษฐกิจไทยที่เห็นการขยายตัวคือเศรษฐกิจในเมืองหลัก แต่หากเป็นเศรษฐกิจในเมืองเล็กๆ ตามจังหวัด จะค่อนข้างซึม นั่นเพราะไทยกำลังเผชิญความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นโครงสร้างที่น่ากังวล ต้องปรับโครงสร้างโดยเร็ว โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังเป็นแบบกระจุกตัว คนตัวเล็กกู้ไม่ได้ หรือกู้ได้ต้องเผชิญดอกเบี้ยแพง ขณะที่คนตัวใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ รายได้ยังเพิ่ม ธุรกิจยังเติบโต

“การที่บางหน่วยงานบอกเศรษฐกิจไทยกำลังเติบโต ฟื้นตัว อยากให้มองทุกมิติ ทุกจุด ทั่วประเทศว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร ส.อ.ท.มีสมาชิกทั่วประเทศ รับรู้ถึงภาวะการค้าการขายว่าค่อนข้างทรงตัวมาตลอด ดังนั้น หน่วยงานที่เก็บข้อมูลต้องดูให้รอบด้าน ควรออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่กำลังประสบปัญหาโดยด่วน ก่อนที่สถานการณ์จะสายเกินไป”