'ส.อ.ท.' หวังค่าไฟระดับ 2.60 บาท เท่า 'เวียดนาม-อินโดฯ' ดูดเงินลงทุนเข้าไทย

'ส.อ.ท.' หวังค่าไฟระดับ 2.60 บาท เท่า 'เวียดนาม-อินโดฯ' ดูดเงินลงทุนเข้าไทย

"ส.อ.ท." อ้อนรัฐขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโดนีเซีย ระดับ 2.50 บาท จูงใจนักลงทุนเข้าไทย โอดเป้าหมาย Net Zero ไทย ยังช้าหวั่นฉุดขีดความสามารถด้านแข่งขัน ลั่น "เอสเอ็มอี" ไทยต้องไม่ตกขบวนอุตสาหกรรมสีเขียว เร่งยกระดับทุกมิติ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกล่าวการในงานเสวนา Thailand Energy Executive Forum หัวข้อ "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" จัดโดยสถาบันวิทยาการพลังงาน (วพน.) ว่า ค่าไฟฟ้าของไทยงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 2567) ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่ายังสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการลงทุนไทยอย่างเวียดนามที่ราคาเพียง 2.67 บาทต่อหน่วย แม้จะเคยเกิดไฟดับแต่สาเหตุมาจากรับการลงทุนต่างชาติจำนวนมาก และเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว 

นอกจากนี้ อินโดนีเซียค่าไฟเพียง 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ราคาที่สูงของไทยจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายอุตสาหกรรมสำคัญต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟเป็นต้นทุนหลัก

\'ส.อ.ท.\' หวังค่าไฟระดับ 2.60 บาท เท่า \'เวียดนาม-อินโดฯ\' ดูดเงินลงทุนเข้าไทย

อย่างไรก็ตาม ก่อนขึ้นเวทีสัมมนานี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผมว่าให้ใจเย็น ๆ กระทรวงกำลังเร่งพิจารณา โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณก๊าซในแหล่งเอราวัณเดือนเม.ย. นี้ หากค่าไฟถูกลงในระดับเหมาะสม เอกชนจะประกาศหยุดงาน1 วัน และขอเลี้ยงขอบคุณปลัดพลังงานด้วย ทั้งนี้ ขอย้ำรัฐบาลว่าเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน

นอกจากราคาพลังงานที่เหมาะสมสามารถแข่งขันได้ ยังอยากให้ภาครัฐออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไทย 5 ด้านหลัก คือ

1. สนับสนุนการเปลี่ยนใช้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพ

2. สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน

3. พัฒนาบุคลากร

4. ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ

5. จัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม 

ขณะเดียวกันในการสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปัจจุบันอีวีจีนเข้ามาจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้การลงทุนสะอาดทั้งระบบ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสุ่ BCG และสามารถมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้

\'ส.อ.ท.\' หวังค่าไฟระดับ 2.60 บาท เท่า \'เวียดนาม-อินโดฯ\' ดูดเงินลงทุนเข้าไทย

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การปรับตัวของไทยมีความจำเป็นเพื่อสอดรับกับบริบทโลกที่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาจีโอโพลิติก เทรดวอร์ การดิสรัปชันทางเทคโนโลยี และโลกเลือด ขณะเดียวกันไทยได้ตั้งเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป้าหมายคลีน การมุ่งสู่ความยั่งยืน และเป้าหมาย Net Zero  ภายในปีค.ศ. 2065 ซึ่งสังเกตว่าไทยช้าที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลก จึงอยากให้ทบทวนเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายดังกล่าวส่งผลต่อขีดแข่งขันของไทย

ขณะเดียวกันสหภาพยุโรป (EU) ได้เดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) นำร่อง 5 สินค้า คือ เหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า อะลูทีเนียม ปุ๋ย และ ปี ค.ศ. 2026 จะเพิ่มอีก 5 สินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์กลั่นน้ำมัน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย โพลิเมอร์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ แคนาดา จีน และทั่วโลก จะมีมาตรฐานบังคับใช้ของตัวเอง ดังนั้น ต้องรับมือ ผลิตสินค้าโดยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน 

ทั้งนี้ สอดรับกับยอดขอการลงทุนไทยปี 2566 ที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนที่ยื่นขอลงทุนรายสำคัญของโลกต่างต้องการไฟสีเขียวจากพลังงานสะอาด เพื่อใช้อ้างอิงในการขายสินค้าไปทั่วโลก ซึ่ง CBAM เป็นหนึ่งในมาตรการที่เริ่มต้นแล้ว

"ปีนี้ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.4% ขณะที่องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) คาดการค้าโลกเติบโต 0.8% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.4% ถือเป็นระดับดี"