ถอดรหัสความสำเร็จ ‘EVไทย’ นโยบายชัดเจน – ยืดหยุ่น – ทันโลก

ถอดรหัสความสำเร็จ ‘EVไทย’  นโยบายชัดเจน – ยืดหยุ่น – ทันโลก

ไขรหัสความสำเร็จนโยบายอีวีไทย หลังทำยอดขายปีที่ผ่านมาได้กว่า 7.6 หมื่นคันเติบโต 6.5 เท่า และมียอดขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการบีโอไอกล่าวถึงหัวใจสำคัญคือการออกแบบนโยบายให้ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนทันโลก จากทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน

KEY

POINTS

  • นโยบายส่งเสริมรถอีวีในประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จเมื่อพิจารณาจากยอดขาย และการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • ความสำเร็จของนโยบายนี้ไม่ได้มาจากความบังเอิญแต่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน
  • เลขาธิการบีโอไอในฐานะเลขานุการบอร์ดอีวีแห่งชาติเล่าถึงที่มาของการออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้รถและผู้ผลิต 
  • หัวใจสำคัญคือการรับฟัง ออกแบบนโยบายให้ยืดหยุ่น และพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

ไขรหัสความสำเร็จนโยบายอีวีไทย หลังทำยอดขายปีที่ผ่านมาได้กว่า 7.6 หมื่นคันเติบโต 6.5 เท่า และมียอดขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการบีโอไอกล่าวถึงหัวใจสำคัญคือการออกแบบนโยบายให้ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยนทันโลก จากทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน

มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยที่สามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)  ในประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดรวมทั้งมีอุตสาหกรรม และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทุนจำนวนมากเห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวีที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น6.5 เท่าจากปี 2566

นำมาสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • รถยนต์อีวี 18 โครงการ 40,004 ล้านบาท
  • รถจักรยานยนต์อีวี 9 โครงการ 848 ล้านบาท
  • รถบัสอีวีและรถบรรทุกอีวี 3 โครงการ 2,200 ล้านบาท
  • แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีและระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) 39 โครงการ 23,904 ล้านบาท
  • ชิ้นส่วนสำคัญ 20 โครงการ 6,031 ล้านบาท
  • สถานีอัดประจุไฟฟ้า 14 โครงการ 4,205 ล้านบาท

ความสำเร็จของนโยบายส่งเสริมอีวีของประเทศไทยที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดสนใจของค่ายรถยนต์อีวีทั่วโลก รวมไปถึงอุตสาหกรรม และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องหลายรายนับเป็นความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายที่ควรจะมีการถอดบทเรียนความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายนี้ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆที่สร้างผลประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้อนาคต

ทำนโยบายบนฐานข้อมูล รับฟังทุกภาคส่วน

นฤตม์ เทอดสถีศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กล่าวว่าการทำนโยบายอีวีของประเทศไทยถือว่าเป็นการทำนโยบายที่ตั้งอยู่บนข้อมูล เทรนด์ความต้องการของโลก มีการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศอย่างรอบด้าน นโยบายอีวีของประเทศไทยจึงมีการปรับเปลี่ยน และยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ของตลาด และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต  

ถอดรหัสความสำเร็จ ‘EVไทย’  นโยบายชัดเจน – ยืดหยุ่น – ทันโลก

“ตอนนี้เรามีนโยบาย EV 3.0 และ EV 3.5 ต่อไปอาจมีการปรับเปลี่ยนอีก ส่วนถามถึงนโยบายEV4.0 วันนี้ยังไม่มีแต่ก็อาจจะมีได้ในอนาคตก็ได้  รวมทั้งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีการใช้มากขึ้น เราก็จับตาดูอยู่ว่าจะพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์หรือไม่ ส่วนเทคโนโลยีวันนี้เราทีมาตรการที่ครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีระดับเซลล์ที่รองรับการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่เพื่อดึงเทคโนโลยีชั้นนำเข้ามาลงทุนในไทย”

มาตรการอีวีไทยครอบคลุมทุกด้าน

หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆถือว่านโยบายสนับสนุนอีวีของไทยมีความก้าวหน้าเพราะเป็นมาตรการที่ครบทุกด้าน นอกจากมาตรการด้านผู้ผลิต ยังมีมาตรการที่ให้กับผู้ใช้เช่น มาตรการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในการชาร์จไฟ ก็มีค่าไฟอัตราพิเศษที่กระทรวงพลังงานให้สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะซึ่งการมีมาตรการหลายด้านที่เสริมกันทำให้ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

มาตรการส่งเสริมอีวีของไทยนั้นมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องหลังจากในการส่งเสริมรถยนต์นั่งสำเร็จเป็นอย่างดีล่าสุดมีมาตรการออกมาต่อเนื่อง ในการสนับสนุนรถขนาดใหญ่ ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck) โดยที่ประชุมบอร์ดอีวีแห่งชาติล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ.เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามา ใช้งานโดยไม่กำหนดเพดานราคาชั้นสูง ในกรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 เท่า และในกรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า โดยมาตรการนี้จะมีผลตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังจะออกมาประกาศใช้ไป จนถึงสิ้นปี 2568

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร พิจารณา กำหนดแนวทางปฏิบัติและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยคาดว่าจะมีรถทั้งสองประเภทที่เป็นรถEV ในโครงการนี้ประมาณ 10,000 คัน แบ่งเป็นรถบัสประมาณ 6,000 คัน และรถบรรทุกประมาณ 4,000 คน 

หนุนผลิตแบตฯอีวีระดับเซลล์

นอกจากนั้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมอีวีของภูมิภาคหรือของโลกได้ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อดึงดูดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ ซึ่งเป็นการผลิตต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาลงทุนในประเทศโทย โดย “แบตเตอรี่” ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอีวี

ปัจจุบันมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับโมดูลและแพ็คในประเทศหลายราย แต่เรายังขาดต้นน้ำที่สำคัญ คือ การผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้เงินลงทุนสูง การออกมาตรการส่งเสริมในครั้งนี้ เพื่อดึงบริษัทชั้นนำของโลกมาผลิตในไทย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยเติมเต็มห่วงซ่อุปทานของอุตสาหกรรมวีไทย แต่ยังช่วยอุตาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางโลกที่มุ่งให้เกิดการสะอาดในการดำเนินธุรกิจ

วางเงื่อนไข 4 ข้อหนุนลงทุนโรงงานแบตฯ

โดยผู้ลงทุนจะสามารถขอรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯ ภายใต้เงื่อนไขของบีโอไอ โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับผู้ลงทุน 4 ข้อคือ

  1. ต้องเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำที่มีการใช้งานโดยผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า
  2. ต้องมีแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถผลิตเซลล์แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วยได้
  3. ต้องผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่มีค่าพลังงานจำเพาะ ไม่น้อยกว่า 150 Wh/Kg และ
  4. ต้องมีจำนวนรอบการอัดประจุ (Life Cycle) ไม่น้อยกว่า 1,000 รอบ โดยกำหนดเวลายื่นข้อเสนอโครงการ ลงทุนภายในปี 2570

ตั้งเป้าดึงผู้ผลิตเซลล์แบตฯระดับโลก

ทั้งนี้การสนับสนุนการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ บีโอไอและคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศฯจะพิจารณากำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติต่อไป โดยในการให้การสนับสนุนการลงทุนจะเป็นการเจรจาเป็นรายบริษัท โดยขึ้นกับเทคโนโลยี ขนาดกำลังการผลิตที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งลูกค้าที่ใช้งานแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการรายนั้นๆ โดยไทยต้องการที่จะได้ผู้ประกอบการชั้นนำของโลกที่มีการลงทุนในระดับเซลล์เข้ามาในประเทศไทย

ถอดรหัสความสำเร็จ ‘EVไทย’  นโยบายชัดเจน – ยืดหยุ่น – ทันโลก

อุดหนุนสูงสุด 50% ของมูลค่าการลงทุน 

 โดยปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีนี้ มีทั้งบริษัทจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยบริษัทจีนได้แก่ Contemporary Amperex Technology (CATL) โกชัน ไฮเทค (Gotion) SVOLT ENERGY TECHNOLOGY หรือ SVOLT บริษัท BYD บริษัท China Aviation Lithium Battery Co. (CALB) บริษัทซันโวดะ อิเล็คทริค วิฮิเคิล แบตเตอรี่ จำกัด บริษัท EVE  ส่วนบริษัทค่ายญี่ปุ่น ได้แก่ พานาโซนิค ส่วนค่ายเกาหลีใต้ ได้แก่ ซัมซุง LG และ SK แบตเตอรี่ ซึ่งไทยคาดหวังจะได้บริษัทชั้นนำที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งสิทธิประโยชน์สูงสุดที่สามารถให้ได้ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันคือการอุดหนุนการสร้างโรงงานแบตเตอรี่ 30 – 50% ของมูลค่าการลงทุน

ปรับมาตรการ EV3.5 ครอบคลุมมากขึ้น

บอร์ดอีวีแห่งชาติ ยังได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 KWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย