"ส่งออกไทย" ยิ้มได้ "ค่าระวางเรือ" ลด 4 เดือนวิกฤตทะเลแดงไม่บานปลาย

"ส่งออกไทย"  ยิ้มได้  "ค่าระวางเรือ" ลด   4 เดือนวิกฤตทะเลแดงไม่บานปลาย

วิกฤตทะเลแดงไม่บานปลาย จำกัดอยู่ในวงแคบ ภาครัฐ-เอกชนจับมือแก้ปัญหา เห็นผลค่าระวางเรือลด ทำต้นทุนสินค้าลง ด้านสรท. คาด หากสถานการณ์ไม่บานปลาย ค่าระวางเรือจะเข้าสู่่ภาวะปกตไิได้ใน 1-2 เดือนนี้ เผย ส่งออกไปยุโรปผิดคาด เดือนม.ค. โต 5 % กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน

กว่า  4 ดือน นับตั้งแต่ที่กลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีและยึดเรือสินค้า ซึ่งแล่นผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab-el-Mandeb) ในทะเลแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2566  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขนส่งทางการค้าของโลก เนื่องจากทะเลแดงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าราว 12% ของโลกผ่านเส้นทางคลองสุเอซ ปัจจุบันสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการส่งออกไทยไปยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อไทยแต่กระทบไปกับการค้าทั่วโลก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้สรุปภาพรวมสถานการณ์ความไม่สงบในเส้นทางทะเลแดง-คลองสุเอซ-ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  คือ 1. สถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณทะเลแดงยืดเยื้อ และตึงเครียดมากขึ้น การเดินเรือผ่านเส้นทางทะเลแดง-คลองสุเอซ มีปริมาณไม่มาก เพราะผู้ให้บริการส่วนใหญ่ กว่า  60%  หันไปใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮป แอฟริกาใต้ ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากระยะทางและระยะเวลาในการเดินเรือเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าระวางและค่า surcharge เพิ่มขึ้นตาม

2. สายเรือปรับตารางเดินเรือ เรือแม่ไม่จอดเทียบท่าเรือบางแห่ง และใช้บริการเรือลำเลียงตู้ (Feeder Vessel) เข้าเทียบท่าแทน เพื่อรักษาระยะเวลา Free Time ไม่ให้นานเกินไป

3. ปริมาณเรือและตู้คอนเทนเนอร์ในภาพรวมเพียงพอสำหรับการขนส่งสินค้า และคาดว่าปริมาณตู้จะเพิ่มขึ้นช่วงหลังตรุษจีน อย่างไรก็ตาม ตู้คอนเทนเนอร์จะถูกขนส่งไปยังตะวันออกกลางมากขึ้นในช่วงปลายเดือนก.พ. เนื่องจากความต้องการในการเร่งส่งออกก่อนเทศกาลรอมฎอน จึงต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องสถานการณ์สู้รบในทะเลแดง ราคาน้ำมัน และปริมาณสินค้าที่จะออกสู่ตลาดโลก

4. ค่าระวางเรือคงที่ คาดว่าจะปรับตัวไม่สูงขึ้นมากหลังช่วงตรุษจีน และไม่สูงเท่าช่วงสถานการณ์โควิด เนื่องจากปริมาณเรือและ Capacity ในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการหันไปใช้บริการขนส่งทางอากาศ และทางบกเป็นตัวเลือกในการขนส่งเพิ่มเติม

5. หากเปรียบเทียบกับการขนส่งเส้นทางอื่นๆ การขนส่งสินค้าจากไทยไปยังตลาดส่งออกเป้าหมาย เช่น
สหรัฐหรือยุโรปมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 100-200 ดอลลาร์ต่อตู้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลักของสายเดินเรือ อีกทั้งเรือที่เข้ามาเทียบท่าไทย ส่วนใหญ่
เป็นเรือลำเลียงตู้ ต้นทุนในการขนส่งสินค้าจึงเพิ่มขึ้น

6. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบ่งปันข้อมูล เพื่อจัดทำราคากลางของค่าระวาง เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า เพื่อวางแผนในการส่งออก-นำเข้าสินค้า

ทั้งกรมและเอกเชนได้เกาะติดสถานการณ์ โดยกระทรวงพาณิชย์จัดประชุมหารือระหว่างสายเรือ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์การขนส่งสินค้าหลังเทศกาลตรุษจีนอย่างใกล้ชิด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานให้กรมฯ ทราบ และกระทรวงพาณิชย์ เร่งหารือกับกรมเจ้าท่า และสรท. ในการจัดทำ Thailand’s Weekly หรือ Monthly Freight Index เพื่อเป็นการให้บริการข้อมูลด้านค่าระวางเรือที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลอ้างอิงในการวางแผนการส่งออก หรือขนส่งสินค้าต่อไปในอนาคต

 “ชัยชาญ เจริญสุข “ ประธานสรท. กล่าวว่า  ขณะนี้ปัญหาติดขัดเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ได้เริ่มลดลง หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ส่งผลให้ค่าระวางเรือจากที่เคยปรับขึ้นไป 4-5 เท่า ลดลงมาเหลือ 2-3 เท่าจากระดับปกติ ซึ่งช่วยผ่อนคลายต้นทุนค่าขนส่งสินค้าลงได้ในระดับหนึ่ง และหากสถานการณ์ความไม่สงบในทะเลแดงไม่รุนแรงไปมากกว่านี้ ก็เชื่อว่าปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 เดือนนี้

ส่วนสาเหตุที่ค่าระวางเรือเริ่มปรับลดลง เนื่องจากในช่วงต้นเดือนม.ค. ประเทศจีนต้องเร่งส่งออกในช่วงก่อนตรุษจีนเดือนก.พ. จึงทำให้ความต้องการตู้คอนเทนเนอร์มีสูงมาก ประกอบกับปัญหาการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง จึงทำให้ค่าระวางเรือในช่วงนั้นพุ่งขึ้นไป 5-6 เท่าตัว แต่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ค่าระวางเรือเริ่มลดลงสู่ระดับที่ควรจะเป็นอย่างไรก็ตามทาง สรท. จะติดตามปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรสำคัญ คือ สถานการณ์ของจีนภายหลังจากเปิดประเทศ และภาคการผลิตหลังผ่านช่วงตรุษจีนไปแล้ว รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ที่ขณะนี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แม้สถานการณ์ปัจจุบันยังคงยืดเยื้อ และค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกๆ และสถานการณ์น่าจะคลี่คลายลงหากไม่บานปลายและไม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยุโรปและแอฟริกา ล่าสุดการส่งออกไปยังยุโรปขยายตัว 4.5 % ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการส่งออกไทยที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักยังคงเดินหน้าส่งออกต่อได้แม้ไม่ราบรื่นจากผลกระทบดังกล่าวก็ตาม