ส่งออกไทย ม.ค.ปี 67 บวก   10 % "พาณิชย์"ชี้ฟื้นตัวตามทิศทางโลก

ส่งออกไทย ม.ค.ปี 67 บวก   10 % "พาณิชย์"ชี้ฟื้นตัวตามทิศทางโลก

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือน ม.ค. 67ขยายตัว 10 % มูลค่า 22,649.9 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 19 เดือน ทั้งปี คาดขยายตัวดัวได้ 1-2 %

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย หรือการส่งออกไทย เดือนม.ค.ปี 67   มีมูลค่า 22,649.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10 % ตัว ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 19 เดือน หลังจาก มิ.ย. 65 เป็นต้นมา เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 9.2% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,407.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว  2.6 % ทำให้ไทยขาดดุล 2,757.9 ล้านดอลลาร์

โดยการส่งออกไทยที่ขยายตัวมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว9.2% พลิกกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว3.8 % ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน

สำหรับการส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว ตามอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของการค้าโลก และสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยตลาดหลัก ขยายตัว 10.5 % โดยขยายตัว ในทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ 13.7%   จีน   2.1 %  ญี่ปุ่น  1.0 %  สหภาพยุโรป (27)  4.5%   อาเซียน (5)  18.1 %  และ CLMV  16.6% 

ตลาดรอง ขยายตัว 8.8 %  โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 0.04%   ทวีปออสเตรเลีย  27.2 % ตะวันออกกลาง 2.9%   และรัสเซียและกลุ่ม CIS  64.6%   ขณะที่หดตัวในตลาดแอฟริกา  24.2%  ลาตินอเมริกา 4.0 %  และสหราชอาณาจักร หดตัว  1.6%  และ ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว11.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 5.1%

 

ส่งออกไทย ม.ค.ปี 67 บวก   10 % \"พาณิชย์\"ชี้ฟื้นตัวตามทิศทางโลก

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการส่งออกในเดือน ม.ค.2567 ได้แก่ 1.ภาคการผลิตโลกมีสัญญาณแนวโน้มดีขึ้นในเดือน ม.ค.2567 และ2.สินค้าเกษตรสำคัญของไทยยังคงได้รับอานิสงส์ด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าของตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลับมาฟื้นตัวตามวัฎจักรสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยท้าทายสำคัญ ได้แก่ 1.ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีเหตุการณ์โจมตีเรือสินค้าบริเวณทะเลแดง และ 2.การฟื้นตัวของความต้องการซื้อยังมีความไม่แน่นอนและฟื้นตัวไม่พร้อมกันในแต่ละภูมิภาค

ทั้งนี้ เมื่อเทียบอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆในเดือน ม.ค.2567 พบว่าส่วนใหญ่ขยายตัว โดยเฉพาะเวียดนามที่การส่งออกขยายตัวสูงถึง 42% ขณะที่ไต้หวันขยายตัว 18.1% ,เกาหลีใต้ส่ขยายตัว 18% ,สิงคโปร์ขยายตัว 15.7% ,ไทยขยายตัว 10% ,อินเดียขยายตัว 3.1% และมาเลเซียขยายตัว 0.2% ส่วนญี่ปุ่น ส่งออกติดลบ 0.2% และอินโดนีเซีย ส่งออกติดลบ 8.1%

 

ส่งออกไทย ม.ค.ปี 67 บวก   10 % \"พาณิชย์\"ชี้ฟื้นตัวตามทิศทางโลก

นายกีรติ กล่าวว่า การส่งออกของไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยมูลค่าฐานการส่งออกต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อีกทั้งมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเป็นอุปสรรคทางการค้าในระยะต่อไป

“ผมมองว่าในเดือนต่อไปน่าจะยังเป็นบวกอยู่ ถ้าไม่มีปัจจัยอะไรที่มาเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งต่างๆไม่ได้ขยายวง และมีความรุนแรง แต่จะบวกมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่โมเมนตัม ซึ่งถ้าดูตัวเลขส่งออกของหลายๆประเทศ ก็พบว่าเริ่มกลับมา โดยไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เราบวกอยู่คนเดียว แต่ตอนนี้ค่อยๆทยอยเขียวกันมาเยอะแล้ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นสัญญาณที่ดี” นายกีรติ

ส่วนนแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว การได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่  1 – 2 %