เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย กับปัญหาใหญ่ที่คนไม่ใช้เงิน

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย  กับปัญหาใหญ่ที่คนไม่ใช้เงิน

สะท้อนภาพเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นผ่านการบริโภคของมนุษย์เงินเดือน เมื่อรัฐบาลแก้ปัญหา 'เงินฝืด' ที่ยืดเยื้อกว่า 2 ทศวรรษได้สำเร็จ แต่กลับทำให้คนญี่ปุ่นที่ไม่ชินกับ 'เงินเฟ้อ' พากันไม่ใช่เงินกว่าที่คิด

ข่าวเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นที่ตัวเลขการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างคึกคัก ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และตลาดหุ้นที่ทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงในรอบ 34 ปี อาจทำให้หลายฝ่ายประหลาดใจว่า เหตุใดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นถึงดิ่งลงสู่ภาวะถดถอย (Recession) และสูญเสียตำแหน่งเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 3 ให้กับเยอรมนี 

การจะเข้าใจภาพของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่บนพื้นฐานของภาคบริการและการค้า จึงอาจต้องมองไปที่พฤติกรรมการบริโภคและการใช้เงินของคน ซึ่งรอยเตอร์สรายงานว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารของ “ริสะ ชินคาวะ” พนักงานกินเงินเดือนรายหนึ่ง อาจพอสะท้อนภาพภาวะถดถอยของญี่ปุ่นได้

ชินคาวะไม่ใช่พนักงานในบริษัทระดับท็อปของประเทศ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ เจ้าตัวจึงไม่ได้คาดหวังการปรับขึ้นเงินเดือนในเร็วๆ นี้ ตรงกันข้าม พนักงานสถานเสริมความงามวัย 32 ปีรายนี้กลับถูกลดเงินเดือนลง ซึ่งสะท้อนถึงอุตสาหกรรมบริการในประเทศที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีสัดส่วนการจ้างงานในประเทศมากถึงราว 70%

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ชินคาวะต้องตัดการใช้จ่ายต่างๆ ที่ไม่จำเป็นลง (discretionary spending) แม้แต่ “ข้าวกลางวัน” ในย่านชอปปิงหรูอย่างกินซ่า

“ฉันถูกลดเงินเดือนลง ฉันเลยต้องหยุดซื้อเสื้อผ้าหรือกินข้าวนอกบ้านเพื่อประหยัดเงิน” ชินคาวะกล่าวขณะเดินอยู่ในย่านกินซ่าตอนบ่ายโดยไม่มีถุงชอปปิงในมือแม้แต่ใบเดียว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นในบริษัทขนาดเล็ก ที่ต้องลดการใช้จ่ายเพื่อรับกับสภาพธุรกิจที่ตึงตัว แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นอีกหลายล้านคน พวกเขารัดเข็มขัดกันมานานแล้วเพื่อรับรับมือกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นไม่ชินและไม่เคยเห็นมานานกว่า 20 ปี

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย  กับปัญหาใหญ่ที่คนไม่ใช้เงิน

จากเงินฝืด สู่เงินเฟ้อ และปัญหาใหม่

ปัญหาหนึ่งที่อยู่คู่กับญี่ปุ่นมานานกว่า 2 ทศวรรษก็คือ ภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งเกิดขึ้นหลังยุคฟองสบู่แตกช่วงปลายทศวรรษ 90 รัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) พยายามกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2% จนกระทั่งถึงปี 2566 ที่มีรายงานว่าญี่ปุ่นใกล้จะพ้นจากภาวะเงินฝืดแล้ว

เพียงเริ่มต้นปีในเดือน ม.ค. 2566 ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือดัชนีเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ก็ขยายตัวขึ้นได้ถึง 4% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2524 ส่วนอัตราค่าจ้างในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ขยายตัวได้ 1.5% เมื่อเทียบปีต่อปี และบรรดาสหภาพแรงงานสามารถเจรจาขึ้นค่าจ้างสำหรับช่วงฤดูใบไม้ผลิได้ 3.6%

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่บริษัทบริษัทมาจากปัจจัยภายนอกเช่น นักท่องเที่ยวที่เต็มทั้งกรุงโตเกียวและเกียวโตทำให้ราคาโรงแรมพุ่งขึ้นถึง 63% ขณะที่บริษัทผู้ผลิตในกลุ่มอาหารก็ใช้วิธี “Shrinkflation” หรือการรับมือกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นด้วยการลดปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์แทนที่จะขึ้นราคา

“ประชาชนไม่ได้โง่ ยุคเงินฝืด 30 ปีอาจมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว แต่คนญี่ปุ่นได้เงินเฟ้อแบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ หรือ” เจสเปอร์ โคลล์ จากบริษัทมันเน็กซ์ กรุ๊ปและนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในญี่ปุ่นกล่าวกับนิตยสารฟอเรนโพลิซี

แม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ตัวเลขจากกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นพบว่า อัตราค่าจ้างที่แท้จริงซึ่งหักลบเงินเฟ้อแล้วในเดือน พ.ย. 2566 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 20 โดยลดลง 3% เมื่อเทียบปีที่แล้ว

ฮิเดโอะ คุมาโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดอิจิ ไลฟ์ กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็คือ แม้ดัชนีเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน แต่การใช้จ่ายจริงๆ ของผู้บริโภคกลับไม่ได้ขยับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การบริโภคที่อ่อนแรงในประเทศ

สถานการณ์ในญี่ปุ่นตลอดปีที่แล้วจึงเต็มไปด้วยข่าวการ “รัดเข็มขัด” ของครัวเรือนญี่ปุ่น ที่นอกจากจะลดการใช้จ่ายกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นแล้ว ยังสะท้อนไปถึงสินค้าที่จำเป็นอย่างกลุ่มอาหาร โดยตัวเลขจากกระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่นพบว่า ครัวเรือนขนาด 2 คนขึ้นไป มีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเดือนละ 301,974 เยน (ราว 74,780 บาท) หรือลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2.5% ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนตลอดปีที่แล้วหดตัวลง 2.6%

บรรดานักวิเคราะห์และหน่วยงานรัฐต่างระบุตรงกันว่า การลดรายจ่ายเรื่องการกินข้าวนอกบ้าน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับสภาพอากาศปีนี้ที่หนาวน้อยลงจนกระทบต่อยอดขายเสื้อผ้าในฤดูหนาว และบริการต่างๆ ที่ทยอยลดลงหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นมา

ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนออกมาผ่านตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ที่หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบรายไตรมาส และตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลง 2.5% ซึ่งฉุดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2566 หดตัวลง 0.4% เมื่อเทียบปีต่อปี ต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ที่หดตัวลง 3.3%

การที่จีดีพีหดตัวลงสองไตรมาสติดต่อกันเช่นนี้หมายถึงการที่เศรษฐกิจประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในเชิงเทคนิค ส่งผลให้มูลค่าของจีดีพีญี่ปุ่นปี 2566 ลดลงเหลือ 4.21 ล้านล้านดอลลาร์ จนถูก “เยอรมนี” แซงขึ้นเป็นเบอร์ 3 ที่ขนาดจีดีพี 4.46 ล้านล้านดอลลาร์

การประหยัดของชินคาวะและชาวญี่ปุ่นอีกหลายล้านคนในประเทศ เป็นการเตือนให้เห็นถึง “ความเปราะบาง” ที่ซ่อนอยู่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น แม้ว่าประเทศนี้ใกล้จะสิ้นสุดการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของบีโอเจ ที่ดำเนินมาหลายปีก่อนหน้านี้ก็ตาม


เหตุใดเศรษฐกิจถดถอย
แต่ตลาดหุ้นพุ่งแรงรอบ 34 ปี

ในวันเดียวกับที่ญี่ปุ่นประกาศจีดีพีไตรมาส 4 ที่บ่งชี้การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ในทางกลับกัน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับปิดตลาดทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 34 ปี ดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดเหนือระดับ 38,000 จุด

เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย  กับปัญหาใหญ่ที่คนไม่ใช้เงิน

ดัชนีนิกเกอิ 225 ยังทะยานขึ้นต่อเนื่องในวันศุกร์ที่ 16 ก.พ. ปิดตลาดบวก 329.30 จุด หรือ 0.86% ปิดตลาดที่ระดับ 38,487.24 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2533

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน เพียงแค่ 2 เดือนแรกของปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นโตเกียวบวกขึ้นไปแล้ว 13% และเหลืออีกเพียง 1.1% ดัชนีตลาดหุ้นโตเกียวก็จะขึ้นไปทุบสถิติสูงสุดตลอดกาลซึ่งเคยทำไว้ในระดับ 38,915 เมื่อปี 1989

รายงานระบุว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากคาดหวังว่า “ข่าวร้าย” ในครั้งนี้จะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังคงใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากสัญญาณเศรษฐกิจมหภาคจากจีดีพีไตรมาส 4 หดตัวต่อเนื่องจนทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปีของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เนื่องจากตลาดมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงที่ตลาดคาดการณ์ว่าบีโอเจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อไร

นายนากะ มัตสึซาวะ หัวหน้านักกลยุทธ์ของบริษัทโนมูระ ซีเคียวริตีส์ บอนด์ กล่าวว่า บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีมีแนวโน้มที่จะทะลุระดับ 1% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. ซึ่งขัดกับที่คาดการณ์ไว้ หรือหากเงินเยนอ่อนค่าลงอีกหลังจากที่บีโอเจยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบ ความเคลื่อนไหวอาจขึ้นอยู่กับว่าตลาดอ่านสัญญาณของบีโอเจอย่างไร

ทางด้านนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นกล่าวว่า การจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร หรือจะยกเลิกนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ