ธ.ก.ส.คาดแนวโน้มดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด หนุนต้นทุนเกษตรกรต่ำ

ธ.ก.ส.คาดแนวโน้มดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลด หนุนต้นทุนเกษตรกรต่ำ

ธ.ก.ส.คาดดอกเบี้ยนโยบายปีนี้จะปรับลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยของเฟด หนุนต้นทุนเงินกู้ภาคเกษตรต่ำลง ส่วนผู้ฝากต้องรับดอกเบี้ยที่สะท้อนภาวะตลาด ขณะที่ เร่งระดมเงินฝากยอมรับต้นทุนที่สูงขึ้นเพื่อหนุนสภาพคล่องปล่อยสินเชื่อปีนี้ แนะเกษตรกรที่พักหนี้เร่งตัดเงินต้น

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ว่า น่าจะอยู่ในระดับคงที่กับปรับลดลง ซึ่งจะเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด โดยหากว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลง ทางธนาคารก็จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้กู้ ส่วนผู้ฝากเงินนั้น ก็จะต้องรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนภาวะตลาด 

“ถ้าดูหลักการทั้งเฟดและกนง.เราประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ น่าจะคงกับลด ไม่มีมิติที่จะขึ้น ซึ่งหากว่า ดอกเบี้ยนโยบายลด เราต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ทำให้เป็นประโยชน์กับเกษตรรายย่อย ส่วนผู้ฝากก็จะต้องรับดอกเบี้ยที่สะท้อนตลาดไปตามปกติ ซึ่งเราก็ต้องบริหารจัดการให้ต้นทุนให้สอดคล้องกับทิศทางตลาด” 

สำหรับ สถานการณ์เงินฝากนั้น ที่ผ่านมา เราเร่งระดมเงินฝากระยะสั้น และ ออกสลากออมทรัพย์แทนการรับฝากเงินตามปกติเพิ่มขึ้น เพื่อให้สภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ส่วนต้นทุนการระดมเงินนั้น แน่นอนว่า ก็ต้องขยับขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ทั้งนี้ สัดส่วนของสลากในพอร์ตเงินฝากนั้น ได้ทยอยเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกว่า 20% ซึ่งใกล้เต็มเพดานที่ธนาคารสามารถดำเนินการได้

“ถามว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูง เราจะรอให้ดอกเบี้ยนโยบายลง ก่อนที่จะระดมเงินฝากนั้น เราทำไม่ได้ เพราะเราก็ต้องรักษาสภาพคล่องให้รองรับการดำเนินธุรกิจ โดยส่วนหนึ่งเราต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมที่ครบกำหนดการฝากไว้ด้วย ถ้าเราไม่ทำ เงินก็จะหายไปอยู่แบงก์อื่น ทั้งนี้ การออกสลากที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการแปลงรูปแบบจากการฝากเงินปกติมาเป็นออกสลากเท่านั้น ซึ่งธนาคารยังคงเป้าหมายเงินฝากไว้ในระดับเดิม”

ทั้งนี้ ณไตรมาสที่ 3 ของปีบัญชี ยอดเงินฝากสะสมอยู่ที่ 1.82 ล้านล้านบาท มีสินทรัพย์จำนวน 2.24 ล้านล้านบาทโดยจ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปี ไปแล้ว 6.14 แสนล้านบาท มียอดสินเชื่อคงค้าง 1.66 ล้านล้านบาทเติบโตจากต้นปีบัญชีกว่า 2.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 78.97% ของเป้าหมาย ส่วนหนี้เสียอยู่ที่ 5.43%

สำหรับความคืบหน้าของโครงการพักชำระหนี้นั้น เขากล่าวว่า ณ วันที่ 18 ก.พ.นึ้ จากลูกค้ามีสิทธิ์ 2.1 ล้านราย แสดงความประสงค์แล้ว 1.8 ล้านราย คิดเป็น 66.62% แสดงความประสงค์เข้าพักชำระหนี้ 1.76 ล้านราย และจัดทำข้อตกลงต่อท้ายพักหนี้แล้ว รวม 1.14 ล้านราย หรือ 64.90%คงเหลือที่ต้องทำข้อตกลงอีก 6.17 แสนราย หรือ 35.10%

ทั่งนี้ ภายใต้โครงการพักชำระหนี้นั้น รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยแทนเกษตรกรผู้กู้ ส่วนเงินต้นนั้นเกษตรกรจะจ่ายหรือไม่ก็ได้ แต่เราอยากให้จ่าย เพราะถ้าผู้กู้ไม่มีดอกเบี้ยค้างก่อนเข้ามาตรการ เงินที่นำมาชำระจะถูกนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด ถือว่า ไปสิ่งที่ดี เมื่อออกจากโครงการพักชำระหนี้แล้ว ต้นเงินกู้จะลดลง อย่างไรก็ดี ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า จะมีลูกหนี้จ่ายต้นเท่าไหร่  เพราะโครงการพักชำระหนี้นั้น เพิ่งเริ่มต้นเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ดังนั้น ต้องรอจนถึงต.ค.ปีนี้ ซึ่งครบ 1 ปีของการพักหนี้ จึงจะรู้ว่า จะมีลูกหนี้มาชำระหนี้เงินต้นจำนวนเท่าไหร่

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อครบระยะเวลา 1 ปี ของโครงการพักชำระหนี้แล้ว ทางธนาคารจะดำเนินการรีวิวการชำระหนี้ของลูกหนี้ในโครงการ เพื่อประเมินว่า ลูกหนี้จะมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ หากสามารถชำระได้ เราก็จะเชิญชวนให้ชำระหนี้เพื่อตัดเงินต้น ทั้งนี้ ในช่วงนี้ ธนาคารได้เริ่มเข้าไปทำโครงการฟื้นฟูอาชีพให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ โดยคาดหวังว่า เมื่อพ้นระยะเวลาโครงการแล้ว ลูกหนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 15% 

“รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้ธนาคารเข้าไปฟื้นฟูอาชีพของลูกหนี้ในโครงการราว 3 แสนรายต่อปี หรือ9 แสนรายใน 3 ปี โดยสนับสนุนงบประมาณให้ปีละ 1 พันล้านบาท หรือ ราว 3 พันบาทต่อราย ไม่ได้คาดหวังว่า เกษตรกรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาชีพ แค่ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มราว15% ก็ถือว่า ดีแล้ว”