บอร์ดPPP เคาะปรับแผนร่วมทุนรัฐ-เอกชน ปี 63 - 70 135 โครงการ 1.19 ล้านล้าน 

บอร์ดPPP เคาะปรับแผนร่วมทุนรัฐ-เอกชน  ปี 63 - 70 135 โครงการ 1.19 ล้านล้าน 

“บอร์ดพีพีพี” ไฟเขียว ปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน ปี 2563 - 2570 มูลค่าลงทุนรวม 1.19 ล้านล้านบาท พร้อมผ่านแผนลงทุนท่าเรือ B3 B4 B5 ท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมาย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ครั้งที่ 1/2567

โดยมีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

บอร์ดPPP เคาะปรับแผนร่วมทุนรัฐ-เอกชน  ปี 63 - 70 135 โครงการ 1.19 ล้านล้าน 

โดยคณะกรรมการ PPP เห็นชอบหลักการโครงการร่วมลงทุนท่าเทียบเรือ บี3 บี4 และ บี5 ท่าเรือแหลมฉบังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน บริหาร และประกอบการท่าเทียบเรือตู้สินค้า มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 18,382 ล้านบาท ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุน อุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยียกขนสินค้า รวมทั้งรับความเสี่ยงด้านรายได้ของโครงการ โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับภาครัฐ ในขณะที่ภาครัฐจะกำกับดูแลคุณภาพการดำเนินงานของเอกชนให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา

ทั้งนี้ โครงการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือแหลมฉบังในภาพรวม อันจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งโลจิสติกส์และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ยังได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 (แผนร่วมลงทุนฯ) เพื่อให้สอดคล้องกับความพร้อมของแต่ละโครงการและเป็นปัจจุบัน โดยมีรายการโครงการที่ประสงค์จะดำเนินการในรูปแบบ PPP รวม 135 โครงการ มูลค่ารวม 1.19 ล้านล้านบาท (ปรับเพิ่มขึ้นจากแผนร่วมลงทุนฯ ฉบับเดิม ซึ่งมีจำนวน 127 โครงการ มูลค่ารวม 1.17 ล้านล้านบาท)

 ทั้งนี้ แผนร่วมลงทุนฯ จะเป็นกรอบทิศทางการจัดทำโครงการ PPP ที่ชัดเจน และจะช่วยสร้างความสนใจและดึงดูดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐมากขึ้น อีกทั้ง คณะกรรมการ PPP ยังได้เร่งรัดโครงการร่วมลงทุนต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหรือกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งโครงการในระบบราง โครงการทางถนน และโครงการเชิงสังคม ให้สามารถเปิดให้บริการได้โดยเร็วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเพื่อให้มีบริการสาธารณะและระบบการขนส่งคมนาคมที่สะดวกและรวดเร็ว