วิกฤตทะเลแดง ฉุดการค้าอิตาลี กระทบการค้าแฟชั่น -อาหาร

วิกฤตทะเลแดง ฉุดการค้าอิตาลี กระทบการค้าแฟชั่น -อาหาร

วิกฤตทะเลแดง ยืดเยื้อ กระทบอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี ขณะที่ส่งออกไทยล่าช้ากว่า 1 เดือน ค่าระวางปรับขึ้น 3 เท่า ทำต้นทุนสินค้าสูง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี รายงานสถานการณ์การค้าในอิตาลี หลังสถานการณ์วิกฤตทะเลแดงยืดเยื้อ โดยระบุว่า  ได้ส่งผลกระทบด้านการค้าในอิตาลีแล้ว โดยเฉพาะการชะลอการส่งออกสินค้าของบริษัทอิตาลีที่มีจุดหมายปลายทางไปยังเอเชียและโอเชียเนีย รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในอิตาลีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบและส่วนประกอบพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในกลุ่มอาหารและเกษตร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่ต้องขนส่งโดยเรือบรรทุกผ่านคลอง สุเอซ โดยช่วงปลายเดือนม.ค. 2567 ธนาคารแห่งชาติอิตาลี (Banca d’Italia) ได้มีการประเมินว่า การขนส่งสินค้าทางเรือในพื้นที่ดังกล่าว คิดเป็นมูลค่าเกือบ 16% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าของอิตาลีทั้งหมด

นางสาวอนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (สคต.)ประเทศอิตาลี กล่าวว่า  เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลแดงตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวข้างต้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านการนำเข้าและการส่งออกสินค้าที่ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลตัวเลข Global Trade Altas พบว่า ปี 2566 (ม.ค. – พ.ย.) อิตาลีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 560,390.57 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 12.43% โดยอิตาลีนำเข้าสินค้าจากเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 105,021.88 ล้านดอลลาร์ ติดลบ13.90  หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.74% ของมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลกของอิตาลี โดยจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของอิตาลี อันดับ 2 สัดส่วน 8.59% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของอิตาลี มีมูลค่า 48,142.30 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 15.61%

ในขณะที่ อิตาลีส่งออกไปทั่วโลกมีมูลค่า 594,190.82 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 1.54%  โดยอิตาลีส่งออกสินค้าไปยังเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 77,154.81 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.54%หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.98% ของมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลกของอิตาลี โดยจีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอิตาลี อันดับ 7 สัดส่วน 3.18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอิตาลี มีมูลค่า 18,902.64 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว23.42%


ส่วนผลกระทบของสถานการณ์การโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เส้นทางผ่านทะเลแดง คลองสุเอซ ทำให้ระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลามากกว่า 1 เดือน อาจก่อให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าเพื่อการบริโภค รวมถึงค่าระวางเรือที่ปรับขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ส่งออกไทย ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับสูงขึ้น นำไปสู่แนวโน้มเงินเฟ้อที่จะปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในยุโรป อิตาลี ที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ยังคงทรงตัวระดับสูง และต้นทุนการผลิตอื่น ๆ (ค่าไฟฟ้า ค่าแรง) ซึ่งอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอิตาเลียนชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยมายังอิตาลี