วิกฤตทะเลแดงส่อฉุดส่งออกไทยไปอิตาลีไตรมาสแรก 

วิกฤตทะเลแดงส่อฉุดส่งออกไทยไปอิตาลีไตรมาสแรก 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เผยการค้าไทยกับอิตาลี เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตทะเลแดง ทำค่าระวางเรือเดือนม.ค.67 พุ่งกว่า 200-300% ระยะเวลาส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่า 1 เดือน ส่งผลให้สินค้าไทยขาดตลาดสำหรับใช้ในด้านการผลิต คาดไตรมาสแรกฉุดการค้าไทย-อิตาลี ลดลง

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนางสาวอนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน (สคต.)ประเทศอิตาลี กล่าวว่า สถานการณ์การโจมตีเรือขนส่งสินค้าที่ผ่านทะเลแดง เริ่มส่งผลกระทบต่อการค้าไทยไปยังอิตาลีแล้ว ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ส่งไปยังประเทศอิตาลีใช้การขนส่งทางเรือผ่านเส้นทางทะเลแดงและคลองสุเอซ

ดังนั้นการที่เรือบรรทุกสินค้าได้มีการเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือตั้งแต่เกิดเหตุการโจมตีดังกล่าวขึ้น ได้ส่งผลให้บริษัทให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือปรับเพิ่มขึ้นค่าระวางตั้งแต่เดือนม.ค. 2567 จากราคาเดิมกว่า 200-300% และระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่เกิดความล่าช้ากว่า 1 เดือน ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าไทยขาดตลาดสำหรับใช้ในด้านการผลิต และวางจำหน่ายในท้องตลาด

นอกจากนี้ผลกระทบมากไปกว่านั้นคือ ผู้นำเข้าอิตาลีที่นำเข้าสินค้าจากไทย อาจพิจารณาปรับลดการนำเข้า หรือชะลอการนำเข้าสินค้าไทยในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2567 หรือจนกว่าสถานการณ์การโจมตีดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลาย โดยผู้นำเข้าอิตาลีอาจหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ต้องใช้เส้นทางเดินเรือข้ามคลองสุเอซ ซึ่งอาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยมายังอิตาลีในช่วงไตรมาสแรก ของปี 2567 ปรับตัวลดลง

สำหรับการค้าระหว่างไทยและอิตาลี ในช่วง11 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) อิตาลีนำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,185 ล้านดอลลาร์โดยการนำเข้าสินค้าไทยส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางเรือผ่านเส้นทางทะเลแดงและคลองสุเอซ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของไทยไปอิตาลี ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้า และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ความขัดแย้งในทะเลแดงยังคงดำเนินอยู่ เริ่มส่งผลกระทบต่ออิตาลีในด้านการค้า อิตาลีถือเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากแหล่งภายนอก โดยสินค้าพลังงานถือเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด โดยปี 2566 (ม.ค. – พ.ย.) อิตาลีนำเข้าพลังงาน (HS code 27) มีมูลค่า 85,987 ล้าน คิดเป็นสัดส่วน 15.34% ของสินค้าที่อิตาลีนำเข้าจากทั่วโลกทั้งหมด ซึ่งอิตาลีนำเข้าพลังงานจากประเทศกาตาร์ (อันดับ 10) มีมูลค่า 2,682 ล้านดอลลาร์ (-48.12%) หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.12% ของการนำเข้าพลังงานของอิตาลีจากทั่วโลก หากสถานการณ์ของการชะลอการส่งออกพลังงานของกาตาร์ อาจทำให้อิตาลีจะต้องเตรียมแผนรองรับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปรับขึ้นของราคาพลังงานและบรรเทาภาระที่จะเกิดแก่ประชาชนในประเทศ