“เศรษฐา” มั่นใจปี 67 ยอดส่งเสริมลงทุนพุ่ง เชื่อตัวเลข “FDI” สูงกว่าทุกรัฐบาล

“เศรษฐา” มั่นใจปี 67 ยอดส่งเสริมลงทุนพุ่ง เชื่อตัวเลข “FDI” สูงกว่าทุกรัฐบาล

"เศรษฐา"เชื่อมั่น ปี 2567 จะมียอดการลงทุนสูงขึ้น เตรียมแผนการลงทุนเชิงรุกปี 2567 ดึงดูดต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย พลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยโฆษกรัฐบาลเผย 2566 ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ดึงเงินลงทุนกว่า 8.4 แสนล้านบาท เชื่อปีนี้ตัวเลขFDI พุ่ง

KEY

POINTS

Key points : 

  • ตัวเลขขอส่งเสริมลงทุนปี 66 สูงสุดในรอบ 5 ปี มูลค่าเกิน 8 แสนล้านบาท
  • นายกฯรัฐมนตรีมั่นใจว่าในปี2567 การส่งเสริมลงทุนจะขยายตัวต่อเนื่อง
  • ทั้งนี้คาดว่าตัวเลขFDI จะสูงกว่าทุกๆรัฐบาลที่ผ่านมา

"เศรษฐา"เชื่อมั่น ปี 2567 จะมียอดการลงทุนสูงขึ้น เตรียมแผนการลงทุนเชิงรุกปี 2567 ดึงดูดต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย พลิกโฉมไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยโฆษกรัฐบาลเผย 2566 ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนโตสูงสุดในรอบ 5 ปี ดึงเงินลงทุนกว่า 8.4 แสนล้านบาท เชื่อปีนี้ตัวเลขFDI พุ่ง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลพร้อมรับการลงทุนครั้งใหญ่จากต่างชาติ เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุน และประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่น ปี 2567 นี้ ยอดการลงทุนไทยจะสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI)

 ในปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,307 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 848,318 ล้านบาท โดยพบว่าสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และการทดสอบแผ่นเวเฟอร์และแผงวงจรไฟฟ้า มูลค่ารวมทั้งสิ้น 342,149 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) (วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 จะเน้นภารกิจ 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 

1) ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 สาขา ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และกิจการสำนักงานภูมิภาค จากกลุ่มนักลงทุนในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรป 
2) ยกระดับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ อาทิ ส่งเสริมการเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผลักดันการใช้พลังงานสะอาด 


3) ดึงดูดบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศผ่านมาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa) และการปรับปรุงศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service)

4) เชื่อมผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น EV และแผ่นวงจรพิมพ์ 

5) สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ อาทิ การใช้เครื่องจักรประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน และการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น

บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการในประเทศไทย มูลค่ารวม 29,702 ล้านบาท ได้แก่

1) บริษัท เน็กซ์ ดีซี จำกัด ให้บริการ Data Center รายใหญ่ของออสเตรเลีย

2) บริษัท ซีทีอาร์แอลเอส ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการ Data Center รายใหญ่จากอินเดีย

3) บริษัท ซิง ต๋า สตีล คอร์ด (ไทยแลนด์) จำกัด ผลิตลวดเหล็กสำหรับอุตสาหกรรม

และ 4) บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผลิตไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงจากขยะ

 

“นายกรัฐมนตรีมุ่งสนับสนุนการใช้ศักยภาพของประเทศอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เพื่อนำประเทศไทยสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และพลังงานสีเขียว ให้ตอบรับกับความก้าวหน้าในอนาคต และคำนึงถึงความยั่งยืน ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ยอดการลงทุนปี 2567 ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่รัฐบาลกำหนด จะทำให้ยอดการลงทุนสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก” นายชัย กล่าว