เปิด 14 สาระสำคัญ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ แก้ปัญหา ‘ประมงพื้นบ้าน’ ไม่ขัดหลัก IUU

เปิด 14 สาระสำคัญ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ แก้ปัญหา ‘ประมงพื้นบ้าน’ ไม่ขัดหลัก IUU

เปิด 14 ข้อสาระสำคัญ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ ครม.เห็นชอบในหลักการแก้ไข พ.ร.ก.ประมงฯส่งกฤษฎีกา พิจารณาตรวจร่าง ภายใน 1  เดือน ไม่ให้ขัดกับ กฎระเบียบระหว่างประเทศ เปิดรายละเอียดร่าง พรบ.ประมงฉบับใหม่ แทน พ.ร.ก.ประมง 2558 ปลดล็อกประมงพื้นบ้าน นายกฯชี้กต.และ เกษตรฯไม่ขัด'IUU'

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (30 ม.ค.) เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.ประมง เพิ่มเติม โดยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการของการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)โดยขั้นตอนต่อไปโดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกา ได้ตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนนำกลับเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ดังกล่าวเพื่อต้องการ ช่วยเหลือ ประมงพื้นบ้านชายฝั่ง  ใน 20 จังหวัดที่มีอยู่กว่า  6  แสนกว่าครัวเรือน และได้รับผลกระทบ อย่างมาก และต้องเลิกอาชีพไป จาก พรก. ปี 2558 ดังกล่าว ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2560 ซึ่งเมื่อ  8-9 ปีก่อน ต้องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) ของประเทศคู่ค้า  และได้เอาผิดทั้งประมงพาณิชย์ นอกน่านน้ำและประมงพื้นบ้านชายฝั่งทั้งหมด โดยไม่ได้แยก ประมงพื้นบ้านออกมา

“รัฐบาลชุดนี้เห็นว่า ควรช่วยลดผลกระทบกับประมงพื้นบ้าน และเน้นการรักษาสมดุล ดังนั้นสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิม ต่อไป การเปิดให้ขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้าน จะเปิดให้ คนไทยเท่านั้น   และให้ยกเลิกโทษ การริบเรือ ของประมงพื้นบ้าน โทษอย่างมาก จะแค่ริบใบอนุญาตจะลงโทษ เฉพาะ เรือลำที่ทำผิดเท่านั้น   และ ให้สามารถโอนใบอนุญาต ให้กับทายาทได้  สำหรับเรือขนาด 10  ตันกรอส จากเดิมโอนไม่ได้ และ ต้องรายงานสถิติประมงให้ทัน ภายใน 31 ธค. ของปีถัดไป”

ทั้งนี้การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เพื่อต้องการแยกประมงเชิงพาณิชย์นอกน่านน้ำขนาดใหญ่ และ ประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก  ซึ่ง ในที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในรายละเอียดเพื่อปรับปรุงร่างให้ดีขึ้น และ มีมาตราใดขัดแย้งกับกฎระเบียบระหว่างประเทศ เรื่อง IUU fishing  หรือไม่และให้เสนอ กลับมาให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง ภายใน 1 เดือน  และเมื่อผ่านครม. แล้ว  จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ เพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558  ประกอบด้วย 39 มาตรา สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม คำว่า "ทะเลชายฝั่ง" หมายความว่า ทะเลที่อยู่ในราชอาณาจักร นับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปสามไมล์ทะเล เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้เขตทะเลชายฝั่งในบริเวณใด มีระยะนับจากแนวชายฝั่งทะเลออกไปน้อยหรือมากกว่าสามไมล์ทะเลก็ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า 1ไมล์ทะเลและไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยให้มีแผนที่แสดงแนวเขตบริเวณที่กำหนดแนบท้ายกฎกระทรวงด้วย หรือกรณีพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีข้อจำกัดตามลักษณะทางกายภาพให้สามารถกำหนดเขตทะเลชายฝั่งได้ตามที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอ และเพิ่มเติมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเสนอปรับแก้เขตทะเลชายฝั่งให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดได้

2.คำว่า"ประมงพื้นบ้าน" หมายความว่า การทำการประมงในเขตทะเลขายฝั่งไม่ว่าจะใช้เรือประมง หรือใช้เครื่องมือโดยไม่ใช้เรือประมง ทั้งนี้ ที่ไม่ใช่เป็นประมงพาณิชย์ (แก้ไขถ้อยคำเพื่อให้การทำประมงพื้นบ้านมีพื้นที่ทำการประมงไม่จำกัดอยู่เพียงในเขตทะเลชายฝั่งเท่านั้น)

กำหนดให้มีการรวบรวมสถิติการประมงเป็นรายปี และเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อทราบ โดยจะต้องจัดทำให้แล้วเสร็จและเผยแพรไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม ของปีถัดไป (เดิม ไม่ได้กำหนด)

 3.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงแห่งชาติโดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบาย การประมงแห่งชาติให้มีความเหมาะสม เช่น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล)

 4.แก้ไขเพิ่มเติมที่มาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ประมงแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีผู้แทนสมาคมในด้านการประมงทะเลชายฝั่ง ด้านการประมงทะเลนอกชายฝั่ง ด้านการประมงนอกน่านน้ำไทย ด้านการประมงน้ำจืด ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และด้านการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งสมาคมนั้น ๆ มอบหมายด้านละหนึ่งคน ในกรณี ที่มีสมาคมด้านนั้นๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด (เพิ่มเติมในกรณีที่มีสมาคมด้านนั้น ๆ มากกว่าหนึ่งราย ให้รัฐมนตรีออกระเบียบเพื่อดำเนินการคัดเลือกให้เหลือจำนวนเท่าที่กำหนด)

5.แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี (เดิม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระ 2 ปี)

เปิด 14 สาระสำคัญ พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ แก้ปัญหา ‘ประมงพื้นบ้าน’ ไม่ขัดหลัก IUU

6.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ (เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้มีความเหมาะสม เช่น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ทุกจังหวัดเฉพาะจังหวัดชายทะเล ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน 13 คน เป็นกรรมการ)

7.แก้ไขเพิ่มเติมคุณลักษณะผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านโดยใช้เรือประมง ต้องเป็นบุคคลธรรมดาผู้มีสัญชาติไทย (เดิมไม่ได้กำหนด) และได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ซึ่งการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ต้องระบุจำนวนและประเภทเครื่องมือทำการประมงที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ทำการประมง พื้นที่การทำการประมง หรือเงื่อนไขอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการ การประมง และในกรณีเป็นการทำการประมโดยใช้เรือประมงให้ออกให้แก่เจ้าของเรือประง และสำหรับเรือประมงแต่ละลำ (เพิ่มเติมคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับใบอนุญาตและตัดเงื่อนไขการออก

ใบอนุญาตให้แก่บุคคลเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้ ออก เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นปตามข้อเรียกร้องของชาวประมง)

8.แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมง เช่น เป็นผู้เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 (บัญญัติว่าการกระทำให้ถือว่าเป็นการทำการประมงโดยฝ่าฝืนกฎหมายอย่างร้ายแรง เช่น ใช้เรือไร้สัญชาติทำการประมง) ยังไม่ถึง 1 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด เฉพาะเรือลำ ที่ถูกใช้ในการกระทำความผิด เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาตทำการประมงเฉพาะเรือลำที่ถูกพักใช้ใบอนุญาต และเป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงยังไม่พ้น 2 ปีนับถึงวันยื่นคำขอรับใบอนุญาตเฉพาะเรือลำที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต (เพิ่มเติมเงื่อนไขเฉพาะเรือลำที่

ถูกใช้ในการกระทำความผิด ถูกพักใช้ใบอนุญาต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบมากเกินสมควร)

9.กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในเขตทะเลหลวงต้องมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงหรือมีระบบสังเกตการณ์อื่นใด (e-observer) เพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต (เดิม กำหนดเพียงมีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมง)

10.กำหนดให้การดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงต้องได้ รับอนุญาตจากกรมประมง (เดิม กำหนดห้ามดัดแปลงเครื่องมือทำการประมงให้ผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต)

11.กำหนดให้ใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่า 2.5 เชนติเมตรทำการประมงในเขต 12ไมล์ทะเลนับจากแนวทะเลชายฝั่งในเวลากลางคืน และการทำการประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและพื้นที่ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (เพิ่มเติมพื้นที่และห้วงเวลาที่เหมาะสมให้สามารถทำประมงด้วยอวนตาเล็กกว่า 2.5 เชนติเมตรในเวลากลางคืน

12.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทกำหนดโทษ เพื่อกำหนดโทษทางอาญาให้เหมาะสม เกิดความเป็นธรรม และได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดให้ยกเลิกการริบเรือประมงที่กระทำความผิดเพื่อให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้เมื่อพ้นระยะเวลาลงโทษ (เดิมกำหนดว่าเมื่อพบการกระทำความผิดร้ายแรงให้ริบเครื่องมือทำการประมง เรือประมง หรือสิ่งอื่นที่ใช้กระทำความผิด)

13.กำหนดให้ผู้ใดทำการประมงโดยใช้เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมง และได้รับอาชญาบัตรอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้ (เพิ่มเติมเพื่อให้ใบอนุญาตของเรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปแต่ไม่ถึง 15 ตันกรอสและได้จดทะเบียนเป็นเรือสำหรับการประมงสามารถโอนไปยังทายาทตามกฎหมายได้)

และ 14.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ฉบับละ 500 บาท โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ในการนำเข้าให้เก็บค่าธรรมนียมกิโลกรัมละไม่เกิน 20 บาท (เดิม กำหนดเพียงอัตรา ฉบับละ 500 บาท)