‘ไทย’ รุกเจรจาเว้นวีซ่า ‘เชงเกน’ 'เยอรมัน' หนุนไทยลงทุน EV – พลังงานสะอาด

‘ไทย’ รุกเจรจาเว้นวีซ่า ‘เชงเกน’ 'เยอรมัน' หนุนไทยลงทุน EV – พลังงานสะอาด

“เศรษฐา” เจรจาเยอรมนี หนุนไทยเจรจา EU ขอยกเว้นวีซา “เชงเก้น” เร่งสรุปข้อตกลงการค้าเสรี นำคณะนักธุรกิจเยือนไทย หาลู่ทางลงทุนพลังงานสะอาด EV แลนด์บริดจ์ เปิดประเด็นความร่วมมือเศรษฐกิจไทย-เยอรมัน 6 ประเด็น ดึงลงทุน “อีวี-พลังงานสะอาด” นายกฯ เตรียมเยือนเยอรมนี มี.ค.นี้

key point:

  • ประธานาธิบดีเยอรมนี เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกรอบ 22 ปี 
  • นายกรัฐมนตรีไทย และประธานาธิบดีเยอรมันหารือกันยกระดับความร่วมมือสองประเทศครอบคลุมทุกทุกมิติ เพื่อเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์รอบด้าน
  • ไทยขอให้เยอรมนีช่วยสนับสนุนการขอยกเลิกวีซ่าเชงเกนที่นักท่องเที่ยวไทยต้องขอจาก EU 
  • เยอรมันสนับสนุนไทยเดินหน้าในอุตฯพลังงานสะอาด EV มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว
  • นายกรัฐมนตรีไทยมีกำหนดเดินทางไปเยือนเยอรมนีในเดือน มี.ค.นี้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (25 ม.ค.)

สำหรับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนีครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี โดยไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี และเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป (EU) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน 

รวมทั้งการพบกันระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมันในครั้งนี้ ได้มีการหารือข้อราชการระหว่างรัฐบาล รวมถึงการหารือระหว่างรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของเยอรมัน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ 

 

รวมทั้งเยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% ภายในปี ค.ศ.2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิต EV ในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

‘ไทย’ รุกเจรจาเว้นวีซ่า ‘เชงเกน’ \'เยอรมัน\' หนุนไทยลงทุน EV – พลังงานสะอาด

ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเก้นให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย 

“ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย โดยปี 2566 มีกว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย”

รุกเจรจายกเว้นวีซา“เชงเก้น”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การเจรจากับ EU เพื่อยกเว้นวีซ่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของรัฐบาลที่จะเพิ่มพลังให้กับหนังสือการเดินทางของประเทศไทย เพื่อให้คนไทยเดินทางได้หลายประเทศมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า

สำหรับการเจรจายกเว้นการตรวจลงตรากับ EU นายเศรษฐาได้เริ่มเจรจากับผู้นำหลายรายเพื่อขอให้สนับสนุน เช่น อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนีมาก่อน 

รวมทั้งได้หารือกับนาย Alexander De Croo นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ในระหว่างการเดินทางเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อร่วมประชุม World Economic Forum ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและจีนได้เจรจาเพื่อมีข้อตกลงการยกเว้นตรวจลงตราถาวร โดยนายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน จะเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 26-29 ม.ค.2567 เพื่อลงนามความตกลงระหว่างไทยและจีนว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2567 

“เศรษฐา”เตรียมเยือนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในห้วงเดือนมี.ค.2567เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป

รวมทั้งการเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือเต็มคณะ ร่วมกับประธานาธิบดีเยอรมนี , นาย Michael Kellner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ เยอรมนี (BMWK) และคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 12 บริษัท ใน 5 สาขา ได้แก่ 

1.สาขานิทรรศการงานแสดงสินค้านานาชาติ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ 3.พลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม 4.บริการดิจิทัลและการศึกษา 5.วัสดุก่อสร้าง การก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความต้องการด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน

ไทยดึงลงทุน“อีวี-พลังงานสะอาด”

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวสรุปข้อหารือที่ได้จากคณะผู้แทนภาคเอกชนเยอรมนีร่วมกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องว่า ผลการหารือเป็นไปได้ด้วยดีสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจไทยเยอรมัน โดยได้เน้นย้ำถึงกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ของไทยในประเด็นต่างๆ ได้แก่

1.การทำให้ประเทศไทยเป็นทางเลือกสำคัญในการลงทุนในฐานะแหล่งผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่มีพลังงานสะอาด

2.การนำเสนอด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของบริษัทรถยนต์เยอรมนี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ในประเทศไทย

3.การพัฒนาดิจิทัล ไทยมีเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีการปรับปรุง พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่รองรับทั้งการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

4.การส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะบริษัทด้านการผลิตไมโครชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรม EV

5.การสนับสนุนความยั่งยืน ไทยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการสร้างอัตราภาษีสีเขียว (Green Tariff) แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้การดูแล ติดตามทุกบริษัทที่ลงทุนในไทย 

รวมไปถึงการสร้างพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากเขื่อนกักเก็บน้ำ 7 แห่งในไทย ซึ่งทางบริษัทเยอรมันหลายแห่ง ให้ความสนใจด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเห็นพ้องที่จะส่วนร่วมในแง่ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในไทยต่อไป

เร่งหาข้อสรุปเอฟทีเอไทย-อียู

6.ด้านการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) เน้นย้ำการเจรจาร่วมกับสหภาพยุโรป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว เพื่อการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนอื่นๆ โดยข้อหารือทั้งหมดจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งรัฐบาลพร้อมจะยกระดับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนทั้งจากไทยและเยอรมัน 

นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เน้นนโยบายหลักหลายประการ ทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการปฏิรูปโครงสร้างในระยะยาว ขณะเดียวกันรัฐบาลจะส่งเสริมการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมมีโรดแมปที่ชัดเจนมากที่สุดในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยเฉพาะด้านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่าง ๆ เช่น การพัฒนาสนามบิน การพัฒนาระบบรางรถไฟ โครงการแลนด์บริดจ์

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสะดวกในการทำธุรกิจสำหรับภาคเอกชนต่างชาติในไทย ซึ่งไทยเปิดรับการทำธุรกิจได้อย่างอิสระ มาตรการจูงใจทางภาษี รวมไปถึงด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเยอรมนีถือเป็นผู้นำระดับแนวหน้าของโลก