ความเห็น ‘แบงก์ชาติ’ ในรายงาน ป.ป.ช. ตั้ง 4 ประเด็นเฝ้าระวัง ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’

ความเห็น ‘แบงก์ชาติ’ ในรายงาน ป.ป.ช. ตั้ง 4 ประเด็นเฝ้าระวัง ‘ดิจิทัล วอลเล็ต’

เปิดความเห็นธปท.รายงาน ป.ป.ช.การเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ตั้ง 4 ประเด็นเฝ้าระวัง ชี้ต้องมีเงินรองรับเต็มจำนวนตั้งแต่วันเริ่มโครงการ เพื่อไม่ให้ผิด พ.ร.บ.เงินตรา หรือเข้าข่ายการเสกเงิน ติงระวังการรั่วไหล ทุจริตเชิงนโยบาย

รายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่จัดทำโดยคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธานได้มีการสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่งให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไป

โดยรายงานของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ทำให้รัฐบาลต้องเลื่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล วอลเล็ต (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่) ออกไปจากเดิมที่กำหนดให้มีการประชุมวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าการเลื่อนการประชุมเพื่อรอเอกสารจาก ป.ป.ช. และจะเอาเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดดิจิทัล วอลเล็ต ชุดใหญ่ พร้อมกับจดหมายตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาร่วมกัน

ทั้งนี้ในรายงานเรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” ที่ป.ป.ช.จัดทำขึ้นได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความเห็นของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน โดยหน่วยงานหนึ่งที่คณะกรรมการได้มีการขอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ของรัฐบาล คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ให้ข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้กับป.ป.ช.ดังนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงินประเมินว่าเศรษฐกิจของประทศไทยในปี พ.ศ. 2567 จะขยายตัว 2.8%  และปี พ.ศ. 2567  ขยายตัว 4.4%  ซึ่งตัวเลขนี้มีการรวมผลของ ดิจิทัลวอลเล็ต เข้าไปด้วย โดยแรงส่งเศรษฐกิจที่สำคัญคือการบริโภคภาคเอกชน เพราะปี พ.ศ.2566  การส่งออกสินค้าจะเป็นตัวที่ติดลบ อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากอุปสงค์ ภายในประเทศและมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว

โดยคาดว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ รวมทั้งมีแรงส่งเพิ่มเติมของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี พ.ศ.2566 อยู่ที่1.6% และปี พ.ศ.2567 อยู่ที่ ร้อยละ2.6% โดยในปี พ.ศ. 2566 ที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีมาตรการการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐชั่วคราว โดยอัตราเงินเฟ้อในปี พ.ศ. 2567  ที่คาดการณ์อยู่ที่ 2.6% ได้คำนวณรวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เข้าไว้ด้วยแล้ว หากไม่รวมนโยบายดังกล่าว ตัวเลขเงินเฟ้อก็จะต่ำกว่า 2.6%

ระบบล็อกเชนยังไม่ถูกนำมาใช้จริงในไทย

ปัจจุบันในประเทศไทยไม่มีธนาคารใดที่ใช้บล็อกเชนในการประกอบธุรกิจ แต่อาจจะมีกรณีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการทำธุรกรรมหลังบ้าน ในเรื่องดังกล่าวนี้ ต้องแยกเป็นประเด็นคือ กรณีธนาคารนำบล็อกเชนมาใช้ในการประกอบธุรกิจหรือนำมาใช้ป็นเงินดิจิทัลเท่าที่ทราบคือ ยังไม่มีกรณีดังกล่าว แต่มีการทดสอบนำมาใช้ในระบบหลังบ้านกับการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (LG) และ ในอนาคตหากมีการพัฒนานำเงินดิจิทัลมาใช้จ่ายเป็นเงินอีกสกุลหนึ่งก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจาก

ปัจจุบันกฎหมายเงินตรากำหนดให้การใช้จ่ายเงินมีเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์เท่านั้น ซึ่งหากมีการพัฒนาระบบจนสำเร็จก็อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่นำมาต่อยอดเป็นรูปแบบการชำระเงินที่สามารถจะใส่เงื่อนไขต่าง ๆ เข้าไปได้ แต่หากยังพัฒนาระบบไม่สำเร็จมองว่าไม่อาจจะนำมาต่อยอดได้

หากการดำเนินนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน1 หมื่นบาท ผ่านกระเป๋าเงินวอลเล็ตเป็นกรณีที่ไม่มีตัวงบประมาณสำรองในระบบ แต่ออกมาเป็นลมแล้วให้หมุนการใช้จ่ายไปโดยสร้างกลไกจูงใจว่าไม่อยากให้มาแลกเปลี่ยนเป็นตัวเงินเร็วนัก ซึ่งจะให้มาขึ้นเงินได้ก็ต่อเมื่อมีเงินเข้ามาในระบบแล้ว และจะมีการให้ค่าตอบแทนเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนนั้นเป็นกรณีที่ไม่มีตัวเงินมารองรับในระบบจะมีลักษณะเป็นการเสกเงินผิด พ.ร.บ. เงินตรา ในส่วนที่มีการจูงใจว่าจะมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนก็มีข้อสังเกตว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายหรือไม่

ตัวเลขลงทุน และส่งออกสินค้าไทยต่ำ

เมื่อพิจารณาอัตราตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี จะเห็นชัดว่า การลงทุนภาคเอกชนเติบโตเฉลี่ย อยู่ที่ 1.6% และการส่งออกสินค้าที่เติบโตเพียง 1.5% ซึ่งจะเห็นว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหมวดอื่น ๆ รวมทั้งค่าเฉลี่ยของจีดีพีที่เติบโต 1.9%  จึงต้องยกระดับตัวเลขกรลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าดังกล่าวให้ดีขึ้น

โดยควรเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัล และการปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้สอดคล้องกับกระแสโลกเพื่อให้ยังรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ ในส่วนของความเห็นอื่น ๆ ก็จะสอดคล้องกับที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวไว้

ตั้ง 4 ประเด็นเฝ้าระวัง

ทั้งนี้สิ่งที่ควรระมัดระวังในการดำเนินโครงการของรัฐบาลนอกจากเรื่องหนี้สาธารณะแล้วสิ่งที่พึงระมัดระวัง 4 ประเด็นคือ

1.การพิจารณาของคณะกรรมการโครงการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (due care / due process) ทั้งอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการ เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการที่กฎหมายกำหนด / สอดคล้องและไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ

2.การกำหนดสิทธิในดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชน และร้านค้าสามารถใช้จ่ายหมุนเวียนได้ ต้องไม่เป็นการเสกเงิน เพราะจะขัดกับกฎหมายเงินตราที่กำหนดให้เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) มีเพียง 2 รูปแบบ ได้แก่ ธนบัตร และเหรียญกษาปณ์ โดยกฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือ นำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี (ซึ่งการอนุญาตจะทำ ได้เพียงเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมายที่ประสงค์ให้มีระบบเงินตราของประเทศ เพียงระบบเดียวตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่63/2551)

3.ต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวนและมีแหล่งที่มาของเงินชัดเจนในวันเริ่มโครงการ และต้องมีเงินพร้อมจ่ายให้ร้านค้าได้ทันที และเต็มจำนวนในวันที่ร้านค้ามาใช้สิทธิเพื่อขอถอนเงิน โดยหากมี งบประมาณไม่เต็มจำนวน ส่วนที่ขาด ถือเป็นการสร้างวัตถุแทนเงินตราเป็นความผิดกฎหมายเงินตรา และอาจผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารและการใช้จ่ายงบประมาณ

และ 4.ประเด็นอื่นๆ ยังมีประเด็นความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เช่น  ความเสี่ยงจากการรั่วไหลหรือการทุจริตที่คาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น การเอื้อประโยชน์แก่ คนบางกลุ่ม

ความเสี่ยงในการตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนและร้านค้าในการเข้าร่วมโครงการ (ร้านค้าม้า) การกำหนดเงื่อนไขสินค้าที่เข้าข่าย และการ cash out ที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม การขายลดสิทธิระหว่างประชาชนด้วยกันเอง  ซึ่งต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการอย่างรอบด้านและมีแนวทางป้องกันการทุจริต รวมถึงกระบวนการตรวจสอบเพื่อปิดความเสี่ยงอย่างชัดเจน