ส.อ.ท.จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงต้นทุนอุตฯ ปี 67 ขึ้นทั้งแผง

ส.อ.ท.จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงต้นทุนอุตฯ ปี 67 ขึ้นทั้งแผง

ส.อ.ท. จับตาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยเสี่ยงกังวลหลักปี 67 ชี้วิกฤติทะเลแดงเร่งอัตราค่าระวางเรือและประกันภัยพุ่ง ผู้นำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปเริ่มรับผลกระทบซัพพลายเชนสะดุดช่วงไตรมาส 2 หวั่นภาคอุตฯ แบกรับต้นทุนหลายด้านทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าแรง ดอกเบี้ย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน ชะลอตัว 

ขณะที่ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตได้ดี จากปัจจัยสนับสนุนทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่องผ่านมาตรการฟรีวีซ่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัวได้  ประกอบกับการใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่จะบรรลุผลภายในปี 2567 เช่น ไทย-ศรีลังกา, ไทย-EFTA และไทย-UAE เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าของไทยได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีความผันผวนจากทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามที่เกิดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งในประเทศสำคัญที่จะจัดขึ้นในปีนี้ อีกทั้งสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น ทั้งยังมีผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภัยธรรมชาติมากขึ้น 

“ความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ในทะเลแดง จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าสำคัญระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือและค่าเบี้ยประกันความเสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3-5 พันดอลลาร์ รวมถึงระยะเวลาในการเดินทางที่ล่าช้าออกไปอย่างน้อย 14 วัน”

ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ส่งออกไปยุโรป อาทิ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมนี จักรยานยนต์ ไก่แปรรูป และเครื่องจักรกลเกษตร และสินค้านำเข้าจากยุโรป อาทิ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ แผงวงจร เครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกัยสัตว์ เครื่องบิน เหล่านี้ทั้งหมดเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากค่าโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น 

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้ผู้ผลิตไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบกับซัพพลายเชนมากนัก เนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังอยู่บ้าง แต่จะเกิดผลกระทบในรอบการผลิตช่วงไตรมาสที่ 2 โดยทุกอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจากยุโรปจะต้องเร่งวางแผนปรับการสั่งออเดอร์สินค้าเพื่อไม่ให้การผลิตสะดุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการขนส่งได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้ ดังนั้นกำไรในปีนี้จะลดลง

ส.อ.ท.จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงต้นทุนอุตฯ ปี 67 ขึ้นทั้งแผง

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ยังมีปัจจัยภายในประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลของภาคอุตสาหกรรมหลายประเด็น ได้แก่ ทิศทางค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาอุดหนุนราคาพลังงานแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และการเข้าไปมีส่วนร่วมของเอกชนในการกำหนดทิศทางพลังงาน

แนวโน้มการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำในปีนี้ หลังการปรับขึ้นรอบแรก 2-16 บาท ที่มีผลในเดือนม.ค.2567 และจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในเดือนพ.ค.2567 

ขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง  ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินสำคัญของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 7.3% 

นอกจากนี้ประเด็นหลักที่น่าห่วงกังวลสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยคือสินค้าด้อยคุณภาพที่เข้ามาทุ่มตลาด ไม่ใช่แค่เฉพาะในไทยแต่ยังเข้ามาตีตลาดอาเซียน ซึ่งกระทบต่อการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรมเหล็ก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หล่อโลหะ เครื่องจักรกล อลูมิเนียม เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ 

“กลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ยังขยายตัวได้นั้นกำลังจะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดเช่นกัน โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซที่หลบเลี่ยงภาษี” 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องปัญหามาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนธ.ค. 2566 อยู่ที่ระดับ 88.8 ปรับตัวลดลง จาก 90.9 ในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการปรับเพิ่มขึ้น

โดยมีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงจากภาคการผลิตชะลอลง เนื่องจากวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับผู้ผลิตได้เร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้า ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง นอกจากนี้ภาคการก่อสร้างชะลอตัวลงโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง 

ด้านการส่งออกประสบปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป 

อย่างไรก็ตามในเดือนธ.ค. ยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแฟชั่น ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอานิสงค์การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการส่งออกมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ โดยการปรับลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ 

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,309 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 81.1% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 72.2% อัตราแลกเปลี่ยน ในมุมมองผู้ส่งออก 45.2% ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 48.5% เศรษฐกิจในประเทศ 43.0% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 38.5% 

ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนพ.ย. โดยมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่กระทบต่อต้นทุนประกอบการ ตลอดจนความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ 

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงวันที่ 1 ม.ค. - 15 ก.พ. 2567

ส.อ.ท.จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ห่วงต้นทุนอุตฯ ปี 67 ขึ้นทั้งแผง

โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ การสนับสนุนกระทรวงพลังงานในการดำเนินการปรับโครงสร้างพลังงานทุกประเภทให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน และควรเปิดให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมให้ความเห็นผ่าน กรอ.พลังงาน

รวมทั้งให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลจากปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบบริเวณทะเลแดง โดยเฉพาะสายเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ในเส้นทางระหว่างเอเชียและยุโรป 

นอกจากนี้ให้กรมสรรพากรเร่งประชาสัมพันธ์และอำนวยความสะดวกร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ในการยื่นคำขอออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสในการขายสินค้าและบริการ