เป้า ‘รัฐบาล’ หารายได้เพิ่มปีละแสนล้าน หลังขาดดุลงบฯ พุ่งแตะ 7 แสนล้าน

เป้า ‘รัฐบาล’ หารายได้เพิ่มปีละแสนล้าน  หลังขาดดุลงบฯ พุ่งแตะ 7 แสนล้าน

ส่องแผนการจัดเก็บรายได้รัฐ 2567 - 2572 ในแผนการคลังระยะปานกลาง พบเป้าหมายขยับเก็บรายได้เพิ่มปีละ 1 - 2 แสนล้านบาท รักษาระดับการขาดดุลงบประมาณไม่ให้เพิ่มสูงเกินไปหลังปี 2568 ทะลุ 7 แสนล้าน ชี้แต่ละปีเป้าจัดเก็บรายได้เพิ่มปีละประมาณ 3 - 5%

Key points : 

  • การจัดทำงบประมาณของประเทศไทยเป็นการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องล่าสุดในปีงบฯ2568 ขาดดุลงบประมาณ 7.1 แสนล้าน
  • รัฐบาลวางแผนเพิ่มรายได้ในแผนการคลังระยะปานกลางปีละไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 3 - 5% 
  • การเพิ่มรายได้ของรัฐจะช่วยให้การขาดดุลงบประมาณไม่เพิ่มสูงเกินไป จนกระทบกับเสถียรภาพการคลังประเทศ 

การจัดทำงบประมาณของไทยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องมาหลายปี และมีตัวเลขการขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นในบางปีงบประมาณ แม้ว่าจะมีการจัดทำงบประมาณเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการทำกรอบงบประมาณใน 3 ปีงบประมาณล่าสุดคือในปี 2566 – 2568 การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 6.95 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 เพิ่มเป็น 7.13 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2568

ขณะที่ในแผนการคลังระยะปานกลางปี 2568 – 2571 การขาดดุลงบประมาณยังอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับระดับ 7 แสนล้านบาทแม้จะมีการขยับกรอบรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ระดับการขาดดุลการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ยังสูงกว่าระดับ 3% ไปจนถึงปีงบประมาณ 2570 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 2.92% ในปี 2571

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้ระบุในแผนการคลังระยะปานกลางปี 2568 – 2571 ว่าเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลในระยะสั้นเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้น การปรับลดขนาดการขาดดุลในระยะปานกลาง

 

ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่ายและหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันภาระรายจ่ายและการคลังของประเทศไทยสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และภาระทางการคลังจากโครงการสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นเพื่อควบคุมไม่ให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไป รัฐบาลจำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยในแผนการคลังระยะปานกลางปี 2568 – 2571 ได้กำหนดรายละเอียดการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในระหว่างปี 2567 – 2571 เพิ่มขึ้นปีละ 3 – 5%  ดังนี้

ปี 67 ตั้งเป้ารายได้เพิ่ม 1.2 แสนล้านบาท 

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 2,787,000 ล้านบาท สูงกว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2566 จำนวน 120,344 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.5% โดยประมาณการรายได้ ขอ’กรมสรรพากรขยายตัวตามสมมติฐานเศรษฐกิจและฐานการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2566 ขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมสรรพสามิต กรมธนารักษ์ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก

เนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 มีมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ประกอบกับในปีงบประมาณ 2567 มีการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางส่วนเหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2566 และกรมธนารักษ์จะมีรายได้พิเศษจากค่าที่ดินราชพัสดุตกอยู่ภายใต้ภาระอสังหาริมทรัพย์ (ค่ารอนสิทธิ์) อย่างไรก็ดี ประมาณการรายได้ของกรมศุลกากรต่ำกว่าปีก่อนเนื่องจากสมมติฐานค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินบาทหดตัว ประกอบกับในปีงบประมาณ 2566 มีรายได้

เป้า ‘รัฐบาล’ หารายได้เพิ่มปีละแสนล้าน  หลังขาดดุลงบฯ พุ่งแตะ 7 แสนล้าน

พิเศษจากการชำระอากรขาเข้าย้อนหลังตามคำพิพากษาคดี ขณะที่ประมาณรายได้ของส่วนราชการอื่นต่ำกว่าปีก่อนเนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 มีรายได้พิเศษเป็นสำคัญ

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 ภายใต้ข้อสมมติฐานเศรษฐกิจในส่วนที่ 1 แนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงที่ผ่านมา และนโยบายการคลังที่จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2568 ประมาณการรายได้ รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 เท่ากับ 2,887,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.6% โดยประมาณการรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรขยายตัวตามสมมติฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ประมาณการการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่นสูงกว่าปีก่อนเพียงเล็กน้อยเนื่องจากปัจจัยฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่มีการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางส่วนเหลื่อมมาจากปีงบประมาณ 2566 และมีรายได้พิเศษจากการนำส่งเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เป็นรายได้แผ่นดิน ขณะที่ประมาณการรายได้ของกรมธนารักษ์ต่ำกว่าปีก่อนเนื่องจากในปีงบประมาณ 2567 มีค่ารอนสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ

ส่วนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 – 2572 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 - 2572 จัดทำขึ้นโดยพิจารณาข้อสมมติฐาน เศรษฐกิจในส่วนที่ 1 และสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิ (หลังหักรายได้พิเศษ) ต่อGDP ในช่วงปีงบประมาณ 2565 - 2566 ซึ่งอยู่ในช่วง 14.4% - 14.6% ส่งผลให้ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 - 2572 ดังนี้

  • ปีงบประมาณ 2569 รายได้ 3,040,000 ล้านบาท  ขยายตัว 5.3%
  •  ปีงบประมาณ 2570 รายได้ 3,204,000 ล้านบาท  ขยายตัว 5.4%
  •  ปีงบประมาณ 2571 รายได้ 3,394,000 ล้านบาท  ขยายตัว 5.9%
  • ปีงบประมาณ 2572 รายได้ 3,571,000 ล้านบาท ขยายตัว 5.2%

ทั้งนี้ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2569 - 2572 ข้างต้น เป็นประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิที่คำนวณจากสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP เพื่อเป็นเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง ซึ่งหน่วยงานจัดเก็บรายได้แต่ละแห่งจะผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึง ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจ เพื่อให้การจัดเก็บรายได้ ของรัฐบาลมีการเติบโตสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและคงสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ให้ใกล้เคียง กับสัดส่วนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในระยะปานกลางจะแปรผันตามสภาวะเศรษฐกิจซึ่งหากการขยายตัวของเศรษฐกิจแตกต่างไปจากสมมติฐานเดิม อาจต้องมีการทบทวนประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย