'Soft Power' เท่ากับ 'สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์' แต่ทำไมรัฐมองผ่าน!!!

'Soft Power' เท่ากับ 'สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์' แต่ทำไมรัฐมองผ่าน!!!

เมื่อการใช้ชีวิตของผู้คนพึ่งพานวัตกรรม และเทคโนโลยี ส่งผลให้การขับเคลื่อนประเทศ ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ ตัวชี้วัด งานวิจัยที่สามารถมีผลชัดเจนมากกว่างานวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เพราะงานวิจัยในสาขาถูกมองว่าไม่ได้แสดงให้มูลค่าทางเศรษฐกิจ

Keypoint:

  • งบวิจัยเกี่ยวกับด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ประมาณ 27%  ของงบประมาณทั้งหมด รัฐมองความรู้สังคมศาสตร์เป็นความรู้ชั้นสองรองจากวิทยาศาสตร์
  • นักวิชาการสังคมศาสตร์ไทยมีบทบาทและไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาสังคม สถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อนจำเป็นต้องสร้างหลักคิดทางสังคมมหาวิทยาลัยต้องเป็นปัญญาให้กับสังคม ไม่ใช่สุสานทางปัญญา
  • หลักการ 5 ข้อ 6 มาตรการ ช่วยยกระดับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ สังคมแห่งปัญหา เข้าใจความเป็นมนุษย์ ผลักดัน Soft Power 

สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์’ เป็นศาสตร์เกี่ยวกับสภาวะของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งยังคงมีความสำคัญมากๆ ต่อให้ปัจจุบันนี้กำลังถูกตั้งคำถามท่ามกลางเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคม และนโยบายของภาครัฐที่เน้นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม และเทคโนโลยี เพราะความสามารถในการเข้าใจความคิดความต้องการของมนุษย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำความคิดเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการทำงานด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโดยอาศัยจากพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นต้น

รัฐบาลไทย ได้ให้ความสำคัญในการผลักดัน  ‘Soft Power’  ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยอำนาจละมุน  ซึ่งวรรณกรรม ดนตรี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร วัฒนธรรมแขนงต่างๆ  ล้วนเป็น ‘สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์’ ทั้งสิ้น

วันนี้ (17 ม.ค.2567) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ได้จัดสัมมนาในหัวข้อ ‘ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา’ วาระการวิจัยสังคมศาสตร์ และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 โดยมีนักสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์จำนวนมากเข้าร่วมงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เรียนอะไรตกงานมากที่สุด

 

  • ปี 2568 WEF เผย 85 ล้านตำแหน่งงานถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานกล่าวเปิดงาน ว่าโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงความท้าทายอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน และก้าวกระโดด เป็นยุคของดิจิตอลทรานฟอร์เมชั่น ซึ่งความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า STEM ทำให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ลดลง เนื่องจากเมื่อจบการศึกษาแล้วหางานยากกว่าสาขาอื่นๆ

World Economic Forum (WEF) ได้ประมาณการว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่ก็จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง โดยอาชีพแห่งอนาคตส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และจะเป็นการผสมผสานระหว่างทักษะด้านดิจิทัลและการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้ 

"ที่ผ่านมา มีการส่งเสริมงานวิจัยเน้นเกี่ยวกับการสร้างความรู้ทางเทคนิค ทักษะความสามารถในการเป็นกำลังการผลิตนวัตกรรมเพื่อประเทศ เน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  ยกระดับรายได้ของประเทศ ซึ่งงานวิจัยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อประเทศไทย แต่การสร้างสังคมด้วยความสงบสันติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เป็นหลัก"พญ.เพชรดาว กล่าว

 

  • งบวิจัยด้านสังคมศาสตร์ 27% ยกระดับระบบสนับสนุน

ประเทศไทยมีผู้คนแตกต่าง และหลากหลาย ซึ่งต้องอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขแล้วก็สันติสุข  หรืออย่างน้อยก็ไม่บานปลายจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ฉะนั้น วันนี้ งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงมีความสำคัญไม่น้อย เพราะจะทำให้ทุกคนเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้คนต่างชนชั้น ต่างเชื้อชาติ ต่างวัย ต่างฐานะทางสังคม เพศสภาพ และเศรษฐกิจ

พญ.เพชรดาว กล่าวต่อว่าการสนับสนุนงานวิจัย หรือการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำสุดขั้วในสังคมไทย ภาวะรวยกระจุก จนกระจายที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นธรรม ภายใต้เงื่อนไขอันซับซ้อน ซึ่งการทำความเข้าใจที่มาและแสวงหาแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ ย่อมหนีไม่พ้นจากงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ถือเป็นงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยเชิงปัญหา อันนำไปสู่การวางเป้าหมายการพัฒนาของประเทศให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้

"ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่แตกต่างกัน การวัดประเมินผลงานวิจัยที่ถูกตั้งเป็นมาตรฐานอาจไม่ตอบโจทย์การวิจัยด้านสังคมศาสตร์  เนื่องจากงานวิจัยจำนวนหนึ่งไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ตัวเลขอาจจะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนหน้าที่สำคัญของอว.คือ การส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดระบบการวิจัยที่เอื้อต่อสายสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จะเป็นด้านความคิดอารมณ์ ความรู้สึก อัตลักษณ์ตัวตนของผู้คน หรือกลุ่มคนที่แตกต่าง รวมถึงทำความเข้าใจปัญหาความทุกข์ความสุข ความเจ็บปวด ความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม"พญ.เพชรดาว กล่าว

ปัจจุบัน แนวคิดทางด้านสังคมศาสตร์เป็นฐานความรู้ในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมไทย ซึ่งมีงบวิจัยเกี่ยวกับด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ประมาณ 27%  ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งโจทย์งานวิจัยด้านนี้ ที่สำคัญ ต้องเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน การร่วมระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อมูลมุมมองความคิดเห็น รวมทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์ จะทำให้เกิดภูมิทัศน์ใหม่ของงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ที่มีคุณค่าต่อการสร้างความหวังสร้างการอยู่ร่วมกัน ทำให้เกิดการผลักดัน ปรับปรุงระบบสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพและมีคุณค่ากับสังคมไทย

  • ความท้าทายและความก้าวหน้าด้านสังคมศาสตร์

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึง'ความคาดหวังและความท้าทาย' ว่าความท้าทายในการสนับสนุน ปรับปรุงงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต้องมองเรื่องของสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาไปไกลและมีพลวัตสูง 

โดยโครงสร้างทางสังคมแตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก ตอนนี้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งภายในสังคมไทยที่เกิดจากการยึดถือคุณค่าและศรัทธาที่แตกต่างกัน การขาดแคลนหลักคิดทางสังคม และสังคมขาดความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงองค์ความรู้พื้นฐานที่หายไป และโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

"สังคมไทยเข้าสู่สังคมพลิกผัน เกิดรอยร้าวของผู้คนในสังคม ภาวะความเปราะบางต่างๆ ของคนไทย วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างวัย ความยากจนซ้ำซ้อน และภัยคุมคาอาชยากรรมแก็งคอลเซ็นเตอร์ และมีปัญหาอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความท้าทายของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์"รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว

สำหรับความคาดหวังที่สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ของการวิจัย คือ ต้องเกิดเครือข่ายวิจัยข้ามสาขา ข้ามกระบวนทัศน์ ข้ามกระบวนการวิจัย ข้ามสถาบัน และข้ามรุ่น ขณะเดียวกันการสื่อสารวิจัย ต้องออกจากโลกวิชาการสู่สังคม เพื่อพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจ และจัดการกับความสลับซับซ้อนของมนายื และสังคม เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ ความฉลาดทางอารมณ์ การสื่อสาร ความสามารถในอยู่ร่วมกับผู้อื่น พร้อมทั้งต้องสร้างเสริมคุณภาพของคนและสังคมให้ปรับตัวรับมือกับวิกฤตต่างๆ ทีเ่กิดขึ้นได้ 

"ตอนนี้มีการพูดถึง Soft Power ซึ่งจริงๆ แล้ว สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง วรรณกรรม ดนตรี ศิลปกรรม ล้วนผลักดัน หรือนำเสนอให้เป็น Soft Power ได้ทั้งสิ้น แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกลไกที่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น อยากให้มีการสำรวจนักวิจัยในศาสตร์ต่างๆ มาสะท้อนตัวระบบการให้ทุนวิจัย และร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางความรู้ที่สอดคล้องกับงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พัฒนากำลังคง เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถประเมินผลงานวิจัย ยกระดับสถานะความรู้และคุณูปการของการวิจัย ภูมิทัศน์งานวิจัยมิติสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่ก้าวทันพฤติกรรมคน สังคม และหนทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทย และส่งเสริมพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสันติสุขและมีอารยะอย่างยั่งยืน" รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าว

  • เปิดผลสำรวจ 'ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์'

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เปิดผลการสำรวจ ‘ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์: สถานะขององค์ความรู้ คุณค่าของความรู้ และช่องว่างของการสนับสนุนการวิจัย รวมถึงเสียงสะท้อนจากนักวิจัยต่อการพัฒนาระบบวิจัยสังคมศาสตร์’ ว่าการศึกษา แบ่งโลกวิทยาศาสตร์ และโลกสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ออกจากกัน ทำให้ศาสตร์ 2 แขนงนี้ เหมือนเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ทั้งที่ควรทำให้ทั้ง 2 ศาสตร์นี้เกื้อหนุนกัน  ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1ปีกว่าในการศึกษา ซึ่ง สกสว.ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ แต่ที่ผ่านมายังประสบความสำเร็จอย่างจำกัด เนื่องจากนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์มีความสนใจในการรับทุนจากสกว. และวช.ไม่มากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่รับทุนจากหน่วยงานในต่างประเทศมากกว่า

เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับทิศทางและแนวคิดที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ เช่น เรื่อง Impact pathway , policy impact และ return-of-investment เป็นการประเมินที่ยากมาก เพราะไม่มีผลแบบตรงไปตรงมาเหมือน กับวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่มีตัวเลขออกมาชัดเจน  และต้องการทราบสถานการณ์และแนวทางการสนับสนุนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่เหมาะสมและสามารถยกระดับความสำเร็จให้สูงขึ้นได้

การจัดทำงานวิจัย ครั้งนี้ เพื่อเป็นการสำรวจสถานะความรู้  พัฒนาการความรู้สังคมศาสตร์ทั้งในประเทศ และโลกตะวันตก  เพื่อการวิเคราะห์การเปลี่ยนปลง การกระจายตัว และพัฒนาการของประเด็น ตลอดจนการประเมินความก้าวหน้าและช่องว่างของความรู้ สำรวจและวิเคราะห์ระบบวิจัย รวมทั้งนำเสนอข้อคิดเห็นของนักวิจัยที่เป็นแกนหลักในงานวิชาการทางสังคม และจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัย อีกทั้งแนวทางการสร้างระบบสนับสนุนทุนวิจัยด้านสังคมศาสตร์นำไปใช้ประโยชน์ได้

ทั้งนี้ การดำเนินงานวิจัยดังกล่าว จะเป็นการสัมภาษณ์กลุ่ม นักวิชาการที่มีบทบาทในสาขาต่างๆ ของสังคม สำรวจและวิเคราะห์โครงสร้างวิจัยสังคมศาสตร์ได้รับทุน สกว.และวช. จำนวน 1,965 ชิ้น จากฐานข้อมูลพ.ศ.2553-2562 รวมถึงสัมภาษณ์นักวิจัยหลัก 20 คน จากสาจาต่างๆ ของสังคมศาสตร์ 

  • พบ 4 ช่วง พัฒนาสังคมศาสตร์ไทย 

ดร.นพ.โกมาตร กล่าวต่อว่าจากการวิจัย ค้นพบทั้งในมุมมองโลก และมุมมองบริบทสังคมไทย ซึ่งมุมมองโลก พบว่า สังคมศาสตร์ ได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์ (ปฎิฐานนิยม) ตั้งแต่แรกเริ่มแต่ต่อมาแนวคิดมนุษยนิยมได้รับความสนใจมากขึ้น ในยุคแรกๆ ของสังคมศาสตร์เน้นการอธิบายแบบแผนของระบบสังคม ต่อมาในยุคที่สังคมเผชิญกับปัญหาความรุนแรง จุดเกิดแนวคิดเชิงวิพากษณ์ที่ให้ความสนใจกับความขัดแย้ง และบทบาทของนักสังคมศาสตร์ มีความแตกต่างกันซึ่งในแต่ละยุคสมัย ทั้งอธิบายโลก สร้างความชอบให้กับการกดขี่ รับใช้จักรวรรดินิยมต่อต้านสงคราม ตั้งคำถามและนำเสนอวิธีคิดใหม่ๆ วิพากษณ์รัฐ สร้างอารยต่อรอง ทางออกให้กับปัญหา และชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหม่ๆ ดังนั้น สังคมศาสตร์มีความหลากหลายเมื่อพัฒนาเป็นสาขาวิชาต่างๆ

บริบทสังคมไทย พัฒนาการของสังคมศาสตร์ไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงที่ 1 ทศวรรษ 2490-2500 การก่อตัวของสังคมศาสตร์ในสถาบันการศึกษา
  • ช่วงที่ 2 ทศวรรษ 2510-2520 สังคมศาสตร์ของมวลชนและชนบท
  • ช่วงที่ 3 ทศวรรษ 2530-2540 สังคมศาสตร์ยุคประชาสังคม
  • ช่วงที่ 4 ทศวรรษ 2550-ปัจจุบัน สังคมศาสตร์ บนความขัดแย้ง

โดยแต่ละช่วง นักสังคมศาสตร์มีบทบาทหลากหลายแตกต่างกัน ด้วยความรู้แบบต่างๆ ทั้ง จารีต-อนุรักษ์นิยม/ความก้าวหน้า-เปลี่ยนแปลง พัฒนาชุมชน/ต่อสู้ทางชนชั้น รับใช้-ร่วมมือกับรัฐ ฉะนั้น บทบาทของนักสังคมศาสตร์สัมพันธ์กับบริบทสังคมการเมือง  

"รัฐมองความรู้สังคมศาสตร์เป็นความรู้ชั้นสองรองจากวิทยาศาสตร์ และรัฐส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสังคมที่ยึดติดอยู่กับกรอบคิดแบบชาตินิยม คือ ส่งเสริมความเป็นไทย รักชาติ ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า Soft Power ทั้งที่ นักวิชาการสังคมศาสตร์ไทยมีบทบาทและไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาสังคม สถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อนจำเป็นต้องสร้างหลักคิดทางสังคมมหาวิทยาลัยต้องเป็นปัญญาให้กับสังคม ไม่ใช่สุสานทางปัญญา"ดร.นพ.โกมาตร กล่าว

คุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์  4 ด้าน 8 ลักษณะ 

ปัจจุบันสังคมศาสตร์มีความหลากหลายทั้งในเชิงเนื้อหา วิธีวิทยาและวิธีการทำงานกับสังคม เมื่อพิจารณาถึงการให้ทุนของสกว.และวช. พบว่า การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยสังคมศาสตร์ ถูกจำกัดในกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายการวิจัยมุ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ พาณิชย์และอุตสาหกรรม

ระบบการสนับสนุนการวิจัยและการประเมินผลการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ถูกจำกัดด้วยหลักการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์กระจายตัวอยู่ในกลุ่มและฝ่ายต่างๆ ของแหล่งทุน ทำให้ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

ส่วนเรื่องกรอบการประเมินความรู้สังคมศาสตร์มีหลายมิติ เพราะสังคมศาสตร์มีสาขาที่หลากหลาย มีฐานความคิดที่แตกต่าง ทำหน้าที่และแสดงบทบาทต่างกัน ขึ้นกับเป้าหมายทางสังคม ซึ่งการประเมินความรู้ทางสังคมศาสตร์ ต้องเห็นคุณค่าของความหลากหลาย และต้องมองในหลายมิติ คุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์ จะมี 4 ด้าน 8 ลักษณะ และ 4 คู่แกน 8 ตัวแปร ได้แก่

  • ทัศนะต่อความรู้  :จะเป็นเรื่องปฎิฐานนิยม-มนุษยนิยม 
  • บทบาทความรู้ :รับใช้นโยบาย-วิพากษ์นโยบาย
  • หน้าที่ของความรู้ :เสนอการแก้ปัญหา-อธิบายปรากฎการณ์ 
  • เป้าหมายของความรู้ :การวิจัยประยุกต์-การวิจัยพื้นฐาน

แนวโน้มการให้ทุนวิจัยเน้นแก้ทางออกมากกว่าการให้ความรู้

ดร.นพ.โกมาตร กล่าวต่อไปว่าแนวโน้มการให้ทุน จะเน้นงานวิจัยที่ให้ทางออกมากกว่าการให้องค์ความรู้  หรือตอบโจทย์นโยบายมากกว่าวิพากษ์  ซึ่งแหล่งทุนภายในมีจำกัด และสงวนไว้สำหรับอาจารย์ใหม่  ขณะที่แหล่งทุนต่างประเทศให้เสรีภาพทางวิชาการ ไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์มากได้เครือข่าย แต่มีการแข่งขันสูง  ดังนั้น แหล่งทุนในขณะนี้จึงเข้าถึงได้ยาก สร้างภาระทางเอกสาร มีระบบระเบียบที่ซับซ้อน เสรีภาพทางวิชาการในการทำงานวิจัยถูกวางกรอบด้านนโยบายระดับชาติ

รวมทั้ง การบริหารขาดธรรมาภิบาล ขาดหลักการและความโปร่งใส ระบบเส้นสาย รวมศูนย์การตัดสินใจ ไร้ประสิทธิภาพและการมีส่วนร่วม ผู้บริหารแหล่งทุนไม่เข้าใจสังคมศาสตร์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกวิชาการ นักสังคมศาสตร์ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ และสาธารณะในวงกว้าง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมทางวิชาการและธรรมชาติของความรู้สังคมศาสตร์

“ปัญหาของการทำงานวิจัยสังคมศาสตร์  เกิดจากทิศทางการวิจัยถูกควบคุมโดยวิธีคิดแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง รัฐเท่านั้นคือผู้กำหนดความเป็นไปของสังคม ความรู้จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ และการมองคุณค่าของสังคมศาสตร์จำกัดเพียงการผู้สนองนโยบาย ที่คอยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อแก้ปัญหาอีกทั้ง ระบบและปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ ทั้งภาระการสอน เงื่อนไขการจ้าง การประเมินผลงาน การแข่งขันจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลก และระบบสนับสนุนที่ติดยึดกับระบบราชการ นอกจากนั้น ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่กำกับขาดความรู้ความเข้าใจทางสังคม”ดร.นพ.โกมาตร กล่าว

ทั้งนี้ จากงานวิจัย พบว่า หลักการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคมศาสตร์ มีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 

  1. หลักความแตกต่างหลากหลายของความรู้ ยอมรับเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย  
  2. หลักความแตกต่างหลากหลายของคุณค่าและการใช้ประโยชน์  เมื่อมีหลากหลายความรู้ และคุณค่า ต้องมีการประเมินที่แตกต่างกัน
  3. หลักความสอดคล้องของระบบสนับสนุนกับธรรมชาติของความรู้  และนักวิจัยสังคมศาสตร์
  4. หลักธรรมาภิบาลของระบบวิจัย  มีการเมืองภายในมหาวิทยาลัยจัดการทุน และความโปร่งใส
  5. หลักการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศ

ดร.นพ.โกมาตร กล่าวด้วยว่า ธรรมชาติของการให้ทุนมีความกระจัดกระจาย ดังนั้น จากงานวิจัยนำเสนอมาตรการ 6 ประการ ดังนี้

1. ควรจะมีการประกาศ 'วาระการวิจัยด้านสังคมศาสตร์' สำหรับระบบออวน.ที่มีความชัดเจน

2.ปรับแผน ววน.พ.ศ.2566-2570 ให้เน้นมิติทางสังคมและความเป็นมนุษย์มากขึ้น

3.จัดทำ Social Science Research Utility Framework ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสังคมศาสตร์

4.ปฎิรูปองค์กรสนับสนุนการวิจัยทางสังคม ด้วยการจัดตั้งแหล่งทุนเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพิ่มมขึ้น ปรับบทบาทของ PMU ให้ทำงานเชิงรุกในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้มากขึ้น

5.สร้างระบบประเมินการส่งเสริมและการใช้ประโยชน์ของสังคมศาสตร์ โดยใช้ กรอบการประเมินองค์ความรู้สังคมศาสตร์หลายมิติ

6.สร้าง Research system govermance โดยปรับบทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ให้เน้นการติดตามและประเมินด้านธรรมาภิบาลขององค์กร