ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ยังตอบโจทย์โลกได้หรือไม่

ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไทยที่กำลังเลือนหายไปจะเวทีเศรษฐกิจและการลงทุนโลกไปเรื่อย ๆ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จัดตั้งมาเมื่อกว่า 5 ปีก่อน ยังจะตอบโจทย์โลกได้หรือไม่

ทาง บล.Innovest X จำกัด ได้ออกบทวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมาสรุป ณ ที่นี้ (แต่ความคิดเห็นบางส่วน เป็นความคิดของผู้เขียนเอง) 

ในปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับ 4 กระแสหลัก ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงในเอเชียรวมถึงไทย ได้แก่ 

(1) กระแส Permacrisis หรือการที่เศรษฐกิจ-สังคม การเมืองการปกครอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิกฤต Covid วิกฤตเศรษฐกิจหลัง Lockdown และวิกฤตสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

(2) กระแส China Derisking หรือการที่ชาติตะวันตกลดบทบาทและความสัมพันธ์กับจีนลง ทั้งในด้านการค้า การลงทุนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกำแพงภาษี การที่บริษัทขนาดใหญ่ลด-ถอนการลงทุนในจีน

โดยจากฐานข้อมูลของ UNCTAD พบว่า การลงทุนโดยตรง (FDI) ในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2013 เหลือเพียง 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2023 (-10.9% ต่อปีโดยเฉลี่ย) 

(3) กระแสการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยในรูปแบบการค้า เกิด “Factory Asia model” ที่ทำให้เอเชียมีรายได้มากขึ้น และเกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ที่เรียกว่า "ห่วงโซ่อุปทานทางเลือกของเอเชีย" หรือ Altasia (อัลเทเชีย)

โดย FDI ในอาเซียนและอินเดียเพิ่มขึ้น โดยในอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2013 เป็น 2.04 แสนล้านใน 10 ปีต่อมา (+4.0% ต่อปี (CAGR))  

(4) กระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผ่านการบูรณาการของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น  Internet of Thing, AI, รถยนต์ไฟฟ้า (EV), วิทยาการหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ 

ภาพการเปลี่ยนแปลงของกระแสเหล่านี้ ทำให้ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการย้ายถิ่นฐานการลงทุนได้ผลบวกบ้าง โดยหากพิจารณาจากไทย ข้อมูลการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในไทยที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3.4% 

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ยังตอบโจทย์โลกได้หรือไม่

(อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ข้อมูลการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI อาจไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรงกับข้อมูลการลงทุนโดยตรงสุทธิที่รายงานโดย UNCTAD (และเปรียบเทียบกันทั่วโลก) เนื่องจากข้อมูล BOI เป็นการวัดมูลค่าการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะทยอยลงทุนได้ แต่ข้อมูล UNCTAD เป็นการวัดเงินทุนไหลเข้า/ออกจริง แต่ไม่สามารถวัดว่าเข้าสู่อุตสาหกรรมใดบ้าง)

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ (34%) โดยเฉพาะบริษัทไต้หวันที่มาลงทุนผลิตแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ในไทย ยานยนต์ (26%) โดยเฉพาะรถยนต์ EV ของจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนี และ เทคโนฯ ชีวภาพ (13%) เช่น โรงงานผลิต biodegradable polymer เป็นต้น

ซึ่งต้องยอมรับว่า การจัดตั้ง EEC เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไทย เพราะกว่า 80-90% ของเงินลงทุนจากข้อมูลการออกบัตรฯ เป็นการลงทุนในแถบ EEC ทั้งสิ้น 

หากพิจารณาหลักการของ EEC แล้ว อาจกล่าวได้ว่ามี 3 เสาหลัก คือ

(1) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตะพุด รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นไปได้ที่จะดำเนินการตามแผนงาน (เริ่มสร้างปีนี้ แล้วเสร็จปี 2027)

ขณะที่สนามบินอู่ตะเภาและโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน (ปี 2028) โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเริ่มก่อสร้างหลัง ครม. อนุมัติแก้ไขสัญญา

 (2) ข้อเสนอจูงใจด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี รวมถึงลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสูงสุด 35% ลดเหลือเพียง 17% เป็นต้น และ

(3) กลไกสนับสนุนด้านการลงทุน โดยเฉพาะการให้บริการจากหน่วยงานราชการแบบ One Stop Service 

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ยังตอบโจทย์โลกได้หรือไม่

ทั้งนี้ ใน Phase ที่ 1 (2018-22) EEC ประสบความสำเร็จในการผลักดันการลงทุน โดยตัวเลข FDI อยู่ที่  1.5 ล้านล้านบาท (หรือ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคิดเป็น 90% ของเงินลงทุน FDI ทั้งประเทศ โดยสาขาหลักได้แก่อุตสาหกรรมน้ำมัน ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตร 

ขณะที่ใน Phase ที่ 2 EEC ตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุน (2023-26) ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท (หรือประมาณ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) และตั้งมูลค่าการลงทุนจริงในพื้นที่เขต EEC 5 แสนล้านบาท (หรือปีละ 1 แสนล้านบาท)

โดยมุ่งเน้นใน 5 cluster หลัก อันได้แก่ อุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่ (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Tech) ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) การเกษตรและเทคฯ ชีวภาพ (BCG) และแปรรูปอาหาร (Food) ซึ่งทั้ง 5 Cluster ตอบโจทย์ของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเฉพาะใน 3 Cluster หลัก อันได้แก่ 

(1) อุตสาหกรรม EV ถือเป็นเรือธงของ EEC โดยนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยมีเม็ดเงินประมาณ 1.08 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 90% ของการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ทั้งประเทศ โดย EEC มีระบบนิเวศที่ครอบคลุมสำหรับอุตสาหกรรม EV โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นศูนย์แห่งแรกของอาเซียน

(2) BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจ BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24% ของเศรษฐกิจไทยใน 5 ปีข้างหน้า และ 

(3) อุตสาหกรรม Medical Tourism ที่ไทยมีจุดเด่นเรื่องคุณภาพ และค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่า ทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่รับผู้ป่วยต่างชาติที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับโลกเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติถึงกว่า 66 แห่ง 

ด้วยภาพดังกล่าว ทำให้การธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใน EEC น่าจะได้ประโยชน์ โดยประโยชน์ทางตรงระยะสั้น ได้แก่ (1) กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความพร้อมของที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และทำเลที่ตั้ง (2) กลุ่มธุรกิจขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มที่ขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึก

ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC ยังตอบโจทย์โลกได้หรือไม่

ขณะที่อุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาวได้แก่

(1) โรงแรม จากนักท่องเที่ยวและการประชุมสัมมนามากขึ้น

(2) กลุ่มอสังหาฯ จากอุปสงค์ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแนวตั้ง

(3) โรงพยาบาล จากประชากรแฝง งบประมาณที่จำกัด และความแออัดของโรงงานฯ ที่มากขึ้น

 (4) โรงเรียน จากความต้องการโรงเรียนนานาชาติสูงขึ้น และ

(5) ค้าปลีก จากการจับจ่ายที่จะเติบโตขึ้นตามเศรษฐกิจใน EEC

โดยสรุป EEC คือกุญแจสำคัญที่จะตอบโจทย์ของกระแสเศรษฐกิจการลงทุนโลกที่เชี่ยวกราก รัฐบาล นักธุรกิจ และนักลงทุนไทย ตระหนักดีแล้วหรือยัง.
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่