ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้า ยังน่าสนใจในพื้นที่ EEC หรือไม่ ?

ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้า  ยังน่าสนใจในพื้นที่ EEC หรือไม่ ?

ไทยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ( Carbon Neutrality ) ภายในปี 2593 ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจที่ช่วยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นั่นคือ การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV)

เนื่องจากการใช้ยานยนต์แบบ BEV ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า 37%-69% เมื่อเทียบกับการใช้ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) โดยปัจจุบัน ภาครัฐมีนโยบายที่จะสนับสนุนการใช้ยานยนต์ดังกล่าวทั้งในแง่ของการให้เงินอุดหนุนในการซื้อและลดภาษีสรรพสามิตรในช่วงปี 2567-70 อีกทั้ง พยายามผลักดันให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก และสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะใน EEC อีกด้วย จึงทำให้มีความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในพื้นที่ดังกล่าว มากขึ้น นำมาซึ่งความต้องการในการใช้บริการสถานีและเครื่องชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามด้วย

ปัจจุบันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 335 สถานี โดยสถานีเหล่านี้อยู่ใน จ.ระยอง 198 แห่ง จ.ชลบุรี 82 แห่ง และ จ.ฉะเชิงเทรา 55 แห่ง (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.2566) ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ใน EEC ที่คาดว่าจะมีทั้งหมด 4,460 คัน ในปี 2566 โดยการประเมินอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 10 ครั้ง/เดือน

ส่วนในปี 2573 คาดว่าความต้องการใช้บริการสถานีและเครื่องชาร์จไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ตามยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ใน EEC ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 4,460 คันในปี 2566 เป็น 74,900 คันในปี 2573 จึงต้องเพิ่มเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 300 หัวจ่าย (150 เครื่อง) เพื่อให้บริการครอบคลุมแก่ยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวทั้งหมด โดยประเมินว่าควรติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้าทั้งหมดนี้เพิ่มในจ.ชลบุรี

Krungthai COMPASS คาดว่า หากผู้ประกอบการขยายการลงทุนเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามความต้องการใช้บริการในปี 2573 จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมดใน EEC ราว 645 ล้านบาทต่อปี อีกทั้ง ธุรกิจนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี (IRR : internal Rate of Return) สูงถึง 20% ในกรณีที่แต่ละสถานีมีเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast Charger 1 เครื่อง โดยการประเมินอยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสัดส่วนของผู้ใช้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าอยู่ราว 40% ของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ทั้งหมดใน EEC

นอกจากนั้น ธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้ายังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในแง่ของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วไป และ 5 ปี สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าที่มีเครื่องชาร์จไฟฟ้าอย่างน้อย 40 หัวจ่าย ซึ่งต้องเป็นเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast Charger ไม่น้อยกว่า 25% ของหัวจ่ายทั้งหมด

นอกจากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว หากผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยใน EEC เพิ่มเครื่องชาร์จไฟฟ้าแบบ Fast Charger และใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ตามการประเมินในข้างต้น จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 206,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ราว 25.6 ล้านต้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ในอนาคต